กระทรวง อว. เปิดงาน BCG Health Tech Thailand 2021 ‘มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ’

กระทรวง อว. เปิดงาน BCG Health Tech Thailand 2021 ‘มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ’ ดันไทยสู่เป้าหมาย ‘ศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน’ ในปี 2570

วันนี้ (8 ธ.ค.64) ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนกว่า 150 หน่วยงาน จาก 7 เขตเศรษฐกิจ จัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ (BCG Health Tech Thailand 2021)” ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2564 ในรูปแบบไฮบริด อีเวนต์ (Hybrid Event) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และออนไลน์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี 3D เต็มรูปแบบบนช่องทาง www.healthtech-thailand.com ขานรับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงานพร้อมแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ


ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า การเปิดงานมหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ (BCG Health Tech Thailand 2021) วันนี้เป็นวันแรก ซึ่งมีความน่าสนใจโดยเฉพาะการบรรยายพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ศาสตร์สาธารณสุข คือ ศ. เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการของ World Health Organization (WHO) Science Council ปาฐกถาพิเศษ “วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ บทบาทที่เป็นไปได้ของสภาวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก” และ ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ปาฐกถา “BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ ความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย” นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการการแสดงสินค้านวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ อาหารและสาธารณสุข รวมทั้งเครื่องใช้และเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งเกิดจากการวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตรรม ทำให้เป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของไทยเป็นอย่างมาก


“ผู้ประกอบด้านอาหารสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ที่มาในงาน BCG Health Tech Thailand 2021 นี้ ผมมองว่าพวกเขาไม่ได้ทำแค่ธุรกิจแต่พวกเขากำลังช่วยสร้างชาติ หากเราไม่มีธุรกิจแบบนี้ประเทศไทยจะไม่มีวันที่จะขยับไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เลย ถ้าเราเพียงแต่ทำด้านสินค้าเกษตรพืชผลต่างๆ เราอาจจะเป็นได้แค่ประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นการมีธุรกิจนวัตกรรมด้านการแพทย์จำนวนมากถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นที่น่าชื่นใจ คือ พวกเขาขายดีสู้กับนวัตกรรมต่างชาติได้สบายมาก มีทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีขนาดกลาง ที่สามารถแข่งราคากับตลาดโลกได้”


ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อว่า อย่าไรก็ตามกระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจที่ผลิตนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากการวิจัยอย่างเต็มที่ เพราะเป็นงานที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งกระทรวง อว. มีหน้าที่สนับสนุนนโยบายและเดินหน้ายุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพตามนโยบาย BCG Economy Model เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียนในปี 2570


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การจัดงาน BCG Health Tech Thailand 2021 ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ สวทช. จัดเต็มพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ซึ่งเป็นนิคมวิจัยสำหรับเอกชนแห่งแรกของประเทศ และจัดควบคู่กับรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี 3D Virtual Exhibition เต็มรูปแบบตลอด 12 เดือน บนช่องทาง www.healthtech-thailand.com เพื่อรองรับดำเนินธุรกิจบนโลกเสมือนจริงแบบไร้ขีดจำกัด ให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการและลูกค้าจากทั่วโลก ถือว่าเป็นมหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพครั้งแรกในรูปแบบไฮบริด อีเวนต์ (Hybrid Event) หลังรัฐบาลเปิดประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจไทยในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยการจัดงานดังกล่าวจะเป็นเวทีเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่ผู้ประกอบการด้านสุขภาพและการแพทย์ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์กว่า 100 ผลงาน เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดตามแผนขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์  รองผู้อำนวยการ สวทช.และดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.


ทั้งนี้มี 2 แผนหลักเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน (Medical Hub) ในปี 2570 ประกอบด้วย 1. การผลิตยาและวัคซีน ซึ่ง ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธาน BCG สาขายาและวัคซีน ดูแผนพัฒนาเรื่องการพัฒนาวัคซีทั้งโควิด-19 และโรคประจำถิ่นอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก รวมถึงการวิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ต้านโรคโควิด-19 ร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและองค์ความรู้ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำได้ และ 2. การผลิตเครื่องมือแพทย์และวัสดุฝังในฝังร่างกายมนุษย์ ซึ่งนักวิจัยและผู้ประกอบการมีความสามารถและศักยภาพในการผลิตใช้ในประเทศรวมทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นที่ยอมรับ โดยธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นในโลกหลังโควิด-19 และถือเป็น 1 ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย BCG ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นวารแห่งชาติ


“การจัดงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ สวทช. ในการใช้ความรู้ ความสามารถของนักวิจัย เชื่อมโยงกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในการเร่งขีดความสามารถในการนำนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้นและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG ที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ภายในปี 2570 ซึ่งต้องการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศ ด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลและรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย” ดร.ณรงค์ กล่าว


ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ที่น่าสนใจ อาทิ การสัมมนาในหัวข้อพิเศษมากกว่า 30 หัวข้อจากวิทยากรระดับประเทศ อาทิ เสวนา “3 สุดยอดเคล็ดเครื่องมือ” ในการต่อสู้ COVID จากนักวิจัย 3 สถาบันวิจัยชั้นของประเทศ และปาฐกถา “พัฒนาวัคซีนอย่างไรให้เท่าทันการกลายพันธุ์ของไวรัส” โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ซึ่งทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. กำลังอยู่ระหว่างการทำวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูกเพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ภายในปี 2565 นี้อีกด้วย


ส่วนการจัดนิทรรศการมีบูธจัดแสดงนวัตกรรมพร้อมใช้ออนไซต์ 50 บูธ ออนไลน์ 300 บูธ บริการจับคู่ธุรกิจแบบ one on one กับเจ้าของธุรกิจกว่า 160 บริษัท พร้อมเวที Open Innovation และ Innovation Pitching เพื่อให้ Start up ได้ระดมทุนในการพัฒนานวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นแล้วยังเปิดห้องให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจนวัตกรรมจากภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญ และพลาดไม่ได้สำหรับผู้เข้าร่วมงานแบบออนไซต์ ลงทะเบียนรับสิทธิ์ฟรี ! ความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลสูงสุด 100,000 บาท จากทิพยประกันภัย ระยะเวลา 30 วัน (นับจากวันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ ระหว่างวันที่8-9 ธันวาคม 2564) จำกัด 1 ท่าน ต่อ 1 สิทธิ์ ส่วนสายช้อปต้องห้ามพลาดกับโปรโมชั่นพิเศษภายในงานทั้งอาหารและสินค้าเพื่อสุขภาพ ลดสูงสุด 25 % กว่า 200 ผลิตภัณฑ์


ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแบบออนไซต์ได้ที่ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ พร้อมติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนฟรีได้ที่ www.healthtech-thailand.com และ www.facebook.com/healthtechthailandevent

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *