วช.หนุนทีมวิจัย มจธ. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสาร โดยใช้นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวแก่นักนิติวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ชี้จุดเด่นราคาถูก สามารถผลิตขึ้นเองได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ช่วยลดการนำเข้า และไม่ทำลายชิ้นงานที่ตรวจสอบ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า เอกสารที่ถูกปลอมแปลงจากแหล่งต้องสงสัย ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายคดีความ และจากสถิติคดีศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2558 ยังพบว่าความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารมีมากสุดถึง 95% ของความผิดที่เกี่ยวกับการปลอมแปลงในคดีอาญาทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี ดังนั้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการ “ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารแบบไม่ทำลายตัวอย่างโดยใช้นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวแก่นักนิติวิทยาศาสตร์ ” เพื่อให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แล้วไปขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และยังช่วยลดงบประมาณในการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศอีกด้วย
สำหรับเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารแบบไม่ทำลายตัวอย่างโดยใช้นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวที่เรียกว่า Green colloidal SERS เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี 2564 โดยมี ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหัวหน้าโครงการ และมีผู้ร่วมประดิษฐ์ประกอบด้วย ดร.นพดล นันทวงศ์ และ ดร.พิทักษ์ เอี่ยมชัย จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พ.ต.อ.หญิง ศิริพร จันทขันธ์ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนางสาวอภิญญา เกตุก้อง จาก มจธ.
ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ เปิดเผยว่า การปลอมแปลงเอกสารที่เป็นความผิดในคดีอาญาซึ่งมีลักษณะที่มีการต่อเติมหรือเขียนแทรก เช่น การปลอมแปลงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินของธนาคาร โฉนดที่ดิน หนังสือเดินทาง และหนังสือพินัยกรรมนั้น ในบางกรณีจำเป็นต้องตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงโดยการเปรียบเทียบชนิดของหมึกพิมพ์หรือหมึกปากกา ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของวิธีการตรวจแบบเดิม ๆ เช่น การใช้เครื่อง VSC ที่แสดงให้เห็นแค่ความแตกต่างในการตอบสนองต่อแสงระหว่างหมึกปากกาที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ ไม่สามารถตรวจเปรียบเทียบชนิดของหมึกได้ หากหมึกปากกาในบริเวณต้องสงสัยเรืองแสงเหมือนกัน หรือไม่เรืองแสงเหมือนกัน และแม้จะมีการนำเทคนิคต่าง ๆ มาใช้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีต้องสกัดหมึกปากกาออกมาจากเอกสารเพื่อตรวจพิสูจน์ เป็นการทำลายสภาพเอกสาร ทำให้เกิดความยุ่งยากในขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ อีกทั้ง ยังต้องทำการขออนุญาตจากศาลก่อนทำลายสภาพเอกสาร ปัจจุบันหน่วยงานด้านการตรวจพิสูจน์เอกสาร จึงได้นำเทคนิครามานสเปกโทรสโกปี ( Raman spectroscopy หรือ RS ) มาประยุกต์ใช้ในการตรวจพิสูจน์หมึกปากกาบนเอกสารได้โดยตรง โดยเป็นการตรวจพิสูจน์แบบไม่ทำลายตัวอย่างและสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของหมึกปากกาได้
ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวว่า เนื่องจากการใช้เทคนิค RS ในการตรวจพิสูจน์หมึกปากกา ยังมีความไวต่ำ จึงมีการนำเทคนิคพื้นผิวขยายสัญญาณรามาน ( SERS ) ด้วยการนำพื้นผิวของอนุภาคนาโนโลหะเข้ามาช่วยในการขยายสัญญาณรามานและลดสัญญาณรบกวน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในเชิงพาณิชย์มีการพัฒนาตัวขยายสัญญาณเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบแผ่นรองรับสำหรับขยายสัญญาณรามาน ( SERS – substrate ) และรูปแบบของคอลลอยด์สำหรับขยายสัญญาณรามาน ( colloidal SERS ) เพื่อออกมาจำหน่าย สำหรับ SERS – substrate แม้จะสามารถขยายสัญญาณรามานได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ ยุ่งยากในการสร้าง มีราคาแพง ในขณะที่ colloidal SERS สามารถเตรียมขึ้นโดยใช้กระบวนการที่ง่ายกว่าและมีราคาถูกกว่า แต่มีอายุการใช้งานที่สั้นและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
“ทีมวิจัย จึงร่วมกันพัฒนานวัตกรรม Green colloidal SERS ขึ้น สำหรับจำแนกหมึกปากกาในงานตรวจพิสูจน์เอกสารต้องสงสัย โดยมีราคาถูก สามารถผลิตขึ้นเองได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ด้วยเครื่องไมโครเวฟ โดยใช้เวลาในการเตรียมเพียงแค่ 3 นาที ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีภายในประเทศไทย และมีอายุการใช้งานนานกว่า 6 เดือน สามารถนำ Green colloidal SERS ไปหยดลงบนหมึกปากกาบนวัตถุพยานประเภทเอกสาร ณ ตำแหน่งต้องสงสัยได้โดยตรง แล้วนำไปตรวจวัดด้วยเครื่องรามานสเปกโทรสโกปีได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้แห้ง สารขยายสัญญาณรามานที่พัฒนาขึ้นนี้ จะไม่ทำละลายหมึก ตัวอักษร ที่อ่านได้ยังคงลักษณะเดิม จึงไม่จำเป็นต้องทำลายสภาพเอกสารเพื่อสกัดหมึกออกมาตรวจวัด โดยการตรวจหนึ่งตำแหน่งจะใช้สารในราคาเพียง 25 สตางค์ เท่านั้น” นักวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวสามารถขยายสัญญาณรามานได้มากกว่า 10 เท่าของสัญญาณรบกวน ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของหมึกปากกา สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการจำแนกโมเลกุลองค์ประกอบ สีของหมึกปากกา และประเภทของตัวทำละลายซึ่งจะบ่งบอกถึงชนิดของหัวปากกา เช่น ปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม และปากกาโรลเลอร์บอล ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่าเอกสารต้องสงสัยนั้นถูกปลอมแปลงหรือไม่ โดยการตรวจพิสูจน์จากหมึกปากกาการผลิต Green colloidal SERS หรือ สารสำหรับขยายสัญญาณเพื่อการตรวจพิสูจน์หมึกปากกาด้วยวิธีรามานสเปกโทรสโกปี ได้เองนี้ ถือเป็นเพิ่มศักยภาพในการตรวจพิสูจน์หลักฐานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ จากการสนับสนุนของ วช. ทีมวิจัยจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Green colloidal SERS และกระบวนการตรวจพิสูจน์หมึกปากกาแบบไม่ทำลายวัตถุพยานเอกสารและไม่ทำละลายหมึกปากกา ให้แก่ตัวแทนเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจเอกสารและกลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง และศูนย์พิสูจน์หลักฐานทั้ง 10 ศูนย์ ทั่วประเทศไทย เพื่อประโยชน์เชิงความมั่นคง และยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้แก่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกับหน่วยงานที่มีเครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้ผู้ปฏิบัติงานประจำเครื่องมือสามารถสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ในอนาคต.