เกษตรกรชี้ปราบหมูเถื่อน ต้องเร่งด่วน เสี่ยงทั้งโรคระบาด-สารเร่งเนื้อแดง

%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C

เกษตรกร ระบุปัญหาลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนต้องตัดตอนโดยเร็ว หวั่น ASF ปนเปื้อนแพร่ระบาดในไทย  กระทบผู้เลี้ยงที่เพิ่งกลับเข้าเลี้ยง  แนะผู้บริโภคเลือกซื้อจากร้านที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์OK”  

นายสิทธิพันธ์  ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า  กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร พยายามปราบหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาในหลายช่องทาง  แล้วนำมากระจายขายทั่วทุกภูมิภาค ในราคาที่ต่ำกว่าราคาเนื้อหมูในประเทศ  ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องตัดตอนโดยเร็ว  เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่อาจปนเปื้อนเข้ามากับเนื้อหมูและเครื่องในที่ลักลอบนำเข้า  ที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการเร่งเพิ่มซัพพลายเนื้อหมูในประเทศ ตามที่สมาคมฯได้เร่งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยทยอยกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง

%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%991

“เป็นข่าวดีที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรเร่งปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการกับกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสและหาประโยชน์จากคนไทย เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้เลี้ยงสุกร ที่ขณะนี้เพิ่งกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้มีความมั่นใจ และยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ เนื่องจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามามีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะนำโรคระบาดเข้ามาด้วย” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%994

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าหมูจากหลายแหล่ง อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน บราซิล  ทำกันเป็นขบวนการ ด้วยการสำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ เช่น อาหารทะเล หรืออาหารสัตว์ ทำให้ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์  และไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้า  นอกจากนี้หลายประเทศทางตะวันตกอนุญาตให้สามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ได้    ซึ่งสารนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้บริโภคคนไทย และผิดกฎหมายไทยที่ประกาศ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” มานานกว่า 20 ปี ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 กระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ.2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546

%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%993

“ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัยในอาหาร” นายสิทธิพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย.

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *