63 ปี วช.เดินหน้าจัดระเบียบจริยธรรมการวิจัย วางกรอบเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างคุณภาพมากกว่าเป็นกฎเหล็กบังคับ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดเวที บรรยายให้ความรู้ เรื่องResearch Integrity ในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช.ครบรอบ 63 ปี “63 ปี วช.สู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม “ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2565 เพื่อสร้างความตระหนักและเข้าใจต่อประชาคมนักวิจัย เกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของ วช. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยอิสระ กรรมการสภามหาวิทยาลัยพิษณุโลก และอดีตวุฒิสมาชิก เป็นวิทยากร ในการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันการพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ วช. เป็นผู้กล่าวต้อนรับ

.com/blogger_img_proxy/

ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันการพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ วช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ลงนามจัดตั้ง สภาวิจัยแห่งชาติขึ้น และในช่วง 63 ปีที่ผ่านมาการวิจัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจึงให้ความสำคัญกับการวิจัย จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ได้มีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขึ้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวง อว.มาตรา 13 กำหนดให้ วช. ต้องมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ซึ่งรับผิดชอบโดย กองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันการพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จึงได้ถือโอกาสนี้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประวัติชีวิต การศึกษา การทำงานและผลงานหลากหลายด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ ผู้แทนรัฐบาลในเวทีระดับนานาชาติ ข้าราชการการเมือง และข้าราชการฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน มาให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับ Research Integrity ในโอกาสครบรอบ 63 ปี วช.

.com/blogger_img_proxy/

ดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน เริ่มต้นบรรยายด้วยการอธิบายว่า Integrity เป็นคำที่ใช้กันในต่างประเทศ มีความหมายว่า จริยธรรม แต่ประเทศไทยจะใช้คำว่า Ethic ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคำว่า Integrity เหนือกว่าจริยธรรม และขอให้นิยามตามที่นักวิจัยไทยท่านหนึ่งเคยให้ไว้ หมายถึง ความซื่อตรงอันหาที่ติมิได้ แต่จริยธรรมขึ้นอยู่กับปัจเจกชนและขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อ ที่มีมาตรฐานแตกต่างกัน ดังนั้นจึงเห็นว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องจริยธรรมควรจะเปิดใจกว้างมากกว่าสร้างกฎเหล็กตายตัว ทั้งนี้ Research Integrity ถือเป็นของใหม่เริ่มขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อนักวิจัยอาวุโสของสหราชอาณาจักรที่มีจิตสำนึกร่วมกันรวมตัวกันจัดตั้งมูลนิธิ เวลคัม โดยมีบริษัทยาสนับสนุนเงินทุน จากนั้นมีมหาวิทยาลัยชั้นนำทยอยเป็นสมาชิกถึง 136 แห่ง จริยธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเพียงข้อกำหนดกว้างๆ ใช้วิธีจูงใจ ฝึกอบรมให้มีความตระหนักรู้มากกว่าการบังคับ ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่ออกเป็นกฎหมายลงนามโดยประธานาธิบดีมีข้อห้ามละเอียดมาก เพราะความกลัว เนื่องจากสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นมีนักวิจัยไม่เพียงพอเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากทั่วโลกเข้าไปทำงาน เกิดความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมทำให้งานวิจัยประสบปัญหา เช่นเดียวกับจีนที่มีกฎเหล็กความประพฤติมิชอบในการวิจัยอย่างเข้มงวด แต่สุดท้ายก็พบว่า 50% ของนักวิจัยในจีนไม่ยอมปฏิบัติตาม

ดร. กระจ่างกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมี Research Integrity สำหรับให้คนคิดดีคิดชอบ ต้องมีเพื่อจะได้รู้ว่า มีใครละเมิด และที่ต้องมีกฎเกณฑ์นี้ เพราะกำหนดให้ วช.เป็นผู้ทำ แม้จริยธรรมจะเป็นเรื่องของปัจเจกชนและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม สังคมไทยอาจมีขุนศรีธนนชัยเป็นขนบธรรมเนียม แต่คนไทยก็ไม่ควรหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องมีกฎหมายไว้ อย่างไรก็ตามมีความเห็นว่า จริยธรรมการวิจัยไม่ควรออกเป็นกฎหมาย ควรเป็นกฎกติกาเท่านั้นจะใช้ได้ผลมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีจริยธรรมการวิจัยกว้างๆให้นักวิจัยของเราอยู่แล้ว เช่น ข้อห้าม 3 เรื่อง คือห้ามสร้างเรื่องขึ้นเอง แบบวิจัยเงาหรือวิจัยทิพย์ ห้ามลอกเลียนโดยไม่อ้างที่มาที่ไป อ้างผิดผิด อยากให้กฎทุกกฎมีทางออก ให้หลวมๆไว้ แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย การวิจัยควรจะต้องให้อิสระทางความคิด แม้แต่ความคิดที่แปลกหรือย้อนแย้งสังคม ก็น่าจะต้องทำได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และที่สำคัญผู้ที่กำกับด้านจริยธรรมต้องมีจริยธรรมสูงกว่านักวิจัยด้วย

.com/blogger_img_proxy/

“ วช.เป็นหน่วยที่ อว.ให้อำนาจไว้จะต้องทำเรื่องนี้ ต้องเป็นไม้กระบองไม่ใช่แค่ไม้ฟืน แต่อย่าเอาไม้กระบองไปตี ขณะนี้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทย มี วช.รับผิดชอบดูแลการวิจัยอยู่ เขาเชื่อมั่น วช. แต่ถ้าเรามีมาตรฐานเรื่องจริยธรรมออกมาจะมีผลดี คือ ผลงานจะเป็นที่ยอมรับของนานาชาติง่ายขึ้น การขอทุนวิจัยจากต่างประเทศจะสะดวกขึ้นและง่ายขึ้น นักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกจะเข้ามาวิจัยในไทยมากขึ้น และคุณภาพของงานวิจัยไทยจะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ “

.com/blogger_img_proxy/

ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ กล่าวเสริมว่า เร็วๆนี้ วช.จะอบรมเรื่อง Research Integrity ร่วมกับ สวทช. เนื่องจาก สวทช.ได้ทำระบบเครือข่ายเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยทั่วประเทศไว้ดีมาก แต่เมื่อจัดตั้งกระทรวง อว. อำนาจเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ วช. จากการหารือร่วมกับ ผอ.สวทช.แล้ว สวทช.ยินดีที่จะให้ วช.โอนรับงานไป ต่อไปจะมีการพัฒนาเป็นเครือข่ายในนามของ สวทช.และ วช. และมีการกำหนดไว้ว่า วช.จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเรื่องนี้ในระดับโลก ในปี พ.ศ.2568 ระหว่างนี้จะมีการร่างแผนว่าด้วยระเบียบการวิจัย เป็นแนวปฏิบัติ และจะทำอี-เลิร์นนิ่ง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักวิจัย ยืนยันว่า วช.จะพยายามทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมนักวิจัย ไม่อยากให้เป็นมาตรการบังคับ หรือมาตรฐาน วช.จะพยายามทำให้นักวิจัยทำงานอย่างเป็นอิสระและมีคุณภาพต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *