ม.รังสิต เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการ-สาธารณสุข

มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข มุ่งสู่การเป็นการแพทย์สะอาด (Clean medicine) ยกระดับของสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับ ไร้รอยต่อระหว่างแผนปัจจุบันและแผนตะวันออก

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก และประธานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยภายในงานครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต “RSUniverse 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต” ว่า ศูนย์ฯ นี้เป็นความตั้งใจและเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยท่านอธิการบดี ทั้งนี้ เนื่องจากเราต้องการยกระดับความตระหนักรู้และความรู้ของประชาชนและสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อให้สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ เพราะว่าขณะนี้เราก็ทราบกันดีว่าระบบสาธารณสุขของเรานั้นค่อนข้างมีทุนจำกัด และนอกจากนั้นเองก็มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่พอสมควร ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญคือการให้เป็นการแพทย์สะอาด (Clean Medicine) หมายความว่าขณะนี้เองการใช้ยา การรักษา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในเรื่องของการวิจัย อาจจะมีความเชื่อมโยงหรือมีอิทธิพลจากบริษัท ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้สูงเกินไป จนกระทั่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น เราก็จะนำหรือชี้นำว่าอะไรเหมาะสมที่สุด สำหรับประชาชนทั่วไป การที่จะได้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาก็คือการที่หาหลักฐานต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รอบด้าน แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตรงนั้นเองต้องเข้าใจว่าหลาย ๆ บทความทางวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงอยู่กับบริษัท ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลนั้นเบี่ยงเบน 

“เราจะไม่ได้เรียกว่าเป็น Evidence-based medicine อย่างเดียว แต่เราจะใช้คำว่า Totality of evidence ก็คือหลักฐานที่ประจักษ์ สำหรับเวลาที่เราลงไปดูสภาพความเป็นอยู่ของคน หรือสภาพที่เกิดขึ้นเวลาที่ใช้ยาว่า ยาตรงนั้นเองมีประสิทธิภาพดีจริงหรือไม่ และก็ประการสำคัญก็คือ ถึงแม้ว่าจะดีจริงแต่ราคานั้นเข้าถึงไม่ได้ ซึ่งเราก็ต้องหาทางเลือกอื่นให้ประชาชนคนไทย อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราจะต้องให้ประชาชนรับทราบว่า ยาที่ใช้อยู่ขณะนี้เองเป็นยาแค่บรรเทาอาการโดยที่ไม่ได้รักษา หรือเป็นยาที่มีสรรพคุณในการรักษา หรือทำให้โรคนั้นสงบไปได้ ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ต่างกันมาก ถ้าหากว่าเราใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอย่างเดียว โรคยังคงดำเนินไปได้เรื่อย ๆ โดยที่คนป่วยนั้นเองก็ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วตัวเองต้องประสบเคราะห์กรรมอะไรอย่างนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ หากได้ยาที่เราเรียกว่าสะอาดปราศจากจากอิทธิพลเชื่อมโยงต่าง ๆ แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของผลข้างเคียงหรือผลกระทบของยา ตัวอย่างที่เราเป็นในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของวัคซีน Covid นั่นเอง ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีปัญหาคือ มีผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คำว่าระยะยาวนั้นหมายความว่า เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผลกระทบนั้นยังเกิดขึ้นได้หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมอง เรื่องของหลอดเลือดก็ตาม เรื่องของระบบภูมิคุ้มกันวิปริต หรือระบบภูมิคุ้มกันที่ด้อยลง จนทำให้คนไข้นั้นหรือคนที่ได้รับวัคซีนอันนั้นเกิดมีความอ่อนแอ และทำให้เชื่อโรคต่างประทุขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เริม หรืองูสวัด และความต้านทานต่อโรคที่เข้ามานั้นจะลดลง ดังนั้น อาจต้องส่งสัญญาณให้ทางการและผู้ผลิตรับทราบข้อมูล ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยที่สุด

  ดังนั้น ประชาชนคนไทยที่ได้รับผลกระทบลักษณะนี้ ถ้ามีโรคอื่น ๆ เข้ามา ซึ่งโรคตรงนั้นเองไม่ได้ร้ายแรง แต่จะดูทวีความรุนแรงขึ้น เพราะว่ามนุษย์เราขณะนี้อยู่ในสภาพเปราะบางมาก ทั้งนี้ เมื่อเราได้ยาที่เหมาะสม ทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และรู้ความปลอดภัยจากที่มีการติดตามข้อมูล อันนั้นเราได้ยาแผนปัจจุบันที่สมเหตุสมผล ประการที่ 2 คือเราจะบูรณาการแพทย์ตะวันออก ซึ่งยาตรงนี้ในบ้านเราก็คือ ยาสมุนไพร สิ่งที่ทำได้ก็คือ สามารถสร้างฐานข้อมูล ที่ได้จากงานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระดับพื้นฐานว่าสมุนไพรต่าง ๆ เหล่านั้น สามารถที่จะมีกลไกในการออกฤทธิ์ตรงไหนบ้าง สร้างความรู้ความเข้าใจและพิสูจน์เพื่อจะยกระดับของสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับ และอีกประการหนึ่งก็คือเสาะแสวงหาสมุนไพรและยกระดับขึ้นมาโดยการพิสูจน์ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในอีกประการหนึ่งในเรื่องของระบบทางสาธารณสุข ในฐานะตัวผมเองและอาจารย์ที่อยู่ในศูนย์ และอยู่ในกรรมการปฏิรูปของระบบสาธารณะสุขของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ดังนั้นเองเราทราบถึงโครงสร้างของระบบซึ่งอาจจะสามารถที่จะแนะแนวหรือสามารถที่จะชี้นำได้ว่า ควรที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำหรือแก้ความไม่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันให้มีการบูรณาการมากขึ้นกว่านี้ 

ในขณะเดียวกันศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข ยังได้มีความร่วมมือกับคณะต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และกลุ่มคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างเหมาะสม ในกรณีนี้จุดสำคัญของศูนย์แห่งนี้คือ ลงทุนน้อยที่สุดได้ประโยชน์มากที่สุด นั่นก็คือเราจะ Minimize budget และ Maximize benefits โดยการไม่ซื้อเครื่องใหม่ การใช้คนน้อยที่สุดในการทำงาน แต่มีความสามารถที่จะเชื่อมโยงบุคลากรและเครื่องมือที่มีอยู่แล้วในมหาวิทยาลัยรังสิต แต่ถ้าหากว่ามีความยังไม่พร้อมใน 2 กรณีนี้ ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงหรือสร้างเครือข่ายกับภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ ก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่าวิน ๆ ทั้ง 2 ฝ่าย คือเรามีโครงการที่เหมาะสม มีตัวยาที่เหมาะสม แล้วไปประเมินด้วยกลไกลทางวิทยาศาสตร์ทางเครื่องมืออย่างอื่น แต่ในขณะเดียวกันนั้นเองความเชื่อมโยงตรงนี้ก็สามารถที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งกันและกันได้ เพื่อให้มีการยอมรับในทรัพยากรที่เรามีอยู่ในประเทศไทยแล้วให้มากที่สุด” ศ. นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวเสริม

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *