ม.รังสิต ทุ่มงบกว่า 230 ล้าน เตรียมสร้างอาคารใหม่ พร้อมผลิตบัณฑิต ‘คณะบริหารธุรกิจ’ สู่สังคมโลกธุรกิจ
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานแถลงข่าว RSUniverse 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต ณ ห้องกมลทิพย์ 2-3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ว่า หัวใจของ ม.รังสิต คือนักศึกษา เราพร้อมมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลานของท่าน ผลักดันการศึกษาสู่มิติใหม่ที่ดีกว่า และก้าวสู่การเป็น มหาวิทยาลัยชี้นำสังคม โดยท่านอธิการบดีประกาศแผนพัฒนาสร้างอาคารคณะบริหารธุรกิจเพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาคารใหม่ทันสมัย ครบวงจร ภายใต้งบลงทุนกว่า 230 ล้านบาท
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งขึ้นพร้อมการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 โดยมีสาขาวิชาทั้งหมด 6 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการเงินการธนาคาร สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการตลาดและ สาขาวิชาการบริหารอุตสาหกรรม ซึ่งทุกสาขาวิชาจะใช้ชื่อปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต ในปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพทางด้านวิชาการ โดยปรับปรุงเป็น 7 หลักสูตร คือ 1. สาขาวิชาการจัดการ (MGT) 2. สาขาวิชาการเงินและการลงทุน (FIN) 3. สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล (DBS) 4. สาขาวิชาการตลาดดิจิทัลและนวัตกรรมค้าปลีก (DMR) 5. สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเซน (LSM) 6. สาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (IBA) 7. สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ (ETP)
นอกจากนี้คณะบริหารธุรกิจยังมีการพัฒนาคุณภาพในด้านต่างๆ ให้มีมาตรฐานและรองรับความต้องการแรงงานของตลาดแรงงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยการเปิดหลักสูตรครอบคลุมทุกด้านของการบริหารธุรกิจ การพัฒนาด้านกิจการนักศึกษาโดยเน้นการทำงานเป็นทีมทั้งนักศึกษาและอาจารย์ และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อาคารสถานที่สำหรับใช้ในการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับผู้เรียนเช่นกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับความสนใจและมีนักศึกษาใหม่ในแต่ละปีสมัครเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก ประมาณปีการศึกษาละ 1,300 คน เพื่อสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศในการเรียนการสอนเสมือนพื้นที่ธุรกิจที่ทันสมัย จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้น
อาคารบริหารธุรกิจใหม่ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยรังสิต ใกล้ศาลาดนตรีสุริยเทพ เป็นอาคาร 6 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 8,700 ตารางเมตร ภายนอกอาคารเป็นรูปแบบอาคารสมัยใหม่ สะท้อนบรรยากาศในการเรียนรู้เชิงธุรกิจ ในแต่ละชั้นของอาคารมีการออกแบบจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติ และการนำเสนอผลงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี เพราะบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีจะส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นเป้าหมายที่ทางคณะบริหารธุรกิจให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ การจัดสรรพื้นที่สำคัญของอาคารในชั้นต่างๆ มีดังนี้
ชั้นที่ 1 : ลานอเนกประสงค์สำหรับการจัดการนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจ , พื้นที่โชว์ผลงานและผลิตภัณฑ์จากแผนธุรกิจ , พื้นที่การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้านผู้ประกอบการ , พื้นที่คลังสินค้าจำลองในการเรียนรู้ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน , พื้นที่จำลองส่วนงานการตลาดดิจิทัลและธุรกิจดิจิทัล , พื้นที่ห้องจำลองทางด้านการเงินและการลงทุน , พื้นที่ร้านค้าปลีกจำลอง และพื้นที่การเจรจาทางธุรกิจ
ชั้นที่ 2 : พื้นที่ห้องอำนวยการของ คณะบริหารธุรกิจ , ห้องผู้บริหารคณะ ประกอบด้วย คณบดี รองคณบดี ห้องประชุมอาจารย์ ห้องพักอาจารย์ และเจ้าหน้าที่
ชั้นที่ 3 : พื้นที่ห้องอำนวยการหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ห้องผู้บริหารหลักสูตร เจ้าหน้าที่หลักสูตร , ห้องเรียนและพื้นที่ห้องประชุมย่อยของนักศึกษา, พื้นที่รับประทานอาหารว่างและห้องพักผ่อนของนักศึกษาปริญญาโทและเอก
ชั้นที่ 4 : พื้นที่ห้องเรียนเต็มพื้นที่ ขนาด 60 ที่นั่ง ,80 ที่นั่ง ,120 ที่นั่ง
ชั้นที่ 5 : พื้นที่ห้องเรียน ห้องสัมมนาขนาดกลางและขนาดใหญ่
ชั้นที่ 6 : พื้นที่สำหรับอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภค และอุปกรณ์ระบบความปลอดภัย
สำหรับกำหนดการก่อสร้างอาคารคณะบริหารธุรกิจใหม่ จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2568 และคาดว่าอาคารคณะบริหารธุรกิจใหม่จะเสร็จเรียบร้อยในเดือนมีนาคม 2569 สามารถใช้รองรับนักศึกษาในการเรียนการสอน ตั้งแต่ภาคการศึกษา S/2569 เดือนมิถุนายน 2569 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม “ก้าวที่ดี คือ ก้าวต่อไปข้างหน้า” เมื่อกาลเวลาเดินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ทุกสิ่งล้วนต้องปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกับสถาบันการศึกษา ต้องต่อยอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่สังคม ทั้งระบบการศึกษา เครื่องมือ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะเป็นกำลังสำคัญให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ดังนั้น มหาวิทยาลัยรังสิตจะยังคงเดินหน้าเพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม รวมทั้งพัฒนาสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้เป็น มหาวิทยาลัยชี้นำสังคม