ผลวิจัยชี้ชัด “เพชรสังฆาต” สมุนไพรไทยความหวังรักษาโรคกระดูกพรุน “อภัยภูเบศร” ใช้จริงในโรงพยาบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา เกษตรกรได้ประโยชน์
มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “เพชรสังฆาต” เพื่อใช้ในผู้ป่วยกระดูกบางและพรุน โดยมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเพชรัสงฆาต และวิจัยทางคลินิกพบว่าอาจมีส่วนช่วยชะลอการลดลงของมวลกระดูกในผู้ป่วยกระดูกบางในช่วงเวลา 6 เดือน ปัจจุบันได้นำมาใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล และติดตามผลลัพธ์การใช้ที่นานขึ้น ผลการใช้เบื้องต้นพบว่า การเสริมการรักษด้วยเพชรสังฆาตช่วยชะลอการลดลงของมวลกระดูก หลังจากใช้ต่อเนื่อง 1 ปีขึ้นไป
เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะ พร้อมด้วยคณะจากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะ
เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าเยี่ยมชมความก้าวหน้าและติดตามผลโครงการวิจัย “การศึกษาอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมและการพัฒนาวิธีคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณของวัตถุดิบเพชรสังฆาต (ระยะที่ 2)” ณ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงคือเพื่อที่จะพัฒนาวิธีการปลูกเพชรสังฆาตที่มีสารสำคัญสูง และถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกร ซึ่งโครงการนี้เป็น 1 ใน 7 โครงการที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการเป็นกรณีศึกษาที่มีความโดดเด่นด้านผลงานที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคมและประเทศ
โครงการวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้การนำของรศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ ม.มหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมด้วย ผศ.ดร.ภญ.ธนิกา ปฐมวิชัยวัฒน์ และ รศ.ดร.ภญ.ชุติมา เพชรกระจ่าง โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ได้กล่าวชื่นชมว่า โครงการวิจัยนี้ ถือเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาศักยภาพสมุนไพรไทยครบวงจรที่นำเอาวิชาการสมัยใหม่ ผนวกกับวิชาการดั้งเดิมเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างครบทั้ง 4 มิติ คือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความเอาใจใส่และสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดเส้นทางตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบสมุนไพรของกลุ่มเกษตรกรไปจนถึงการใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ โดยรูปแบบดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่น่าจะนำไปขยายให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนต่อการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักทั้งระยะเฉียบพลันและระยะต่อเนื่องพบว่าเพชรสังฆาตให้ต้นทุนต่อคอร์สการรักษาที่ถูกกว่ายาแผนปัจจุบัน 1.4-1.5 เท่า และที่สำคัญวัตถุดิบนี้สามารถผลิตได้เองภายในประเทศโดยเกษตรกรไทย
สำหรับในโรคกระดูกพรุนซึ่งเป็นโรคที่มีแนวโน้มเกิดสูงขึ้นและเป็นภาระค่าใช้จ่ายสูงของภาครัฐในการรักษาถึงปีละ 136,470 ล้านบาทได้ และมีรายงานของการใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีราคาต่อการรักษาต่อปีอยู่ระหว่าง 10,872 บาท -231,120 บาท โดยหากมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องคาดว่าเพชรสังฆาตจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการรักษาได้
นอกจากประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว โครงการนี้ยังสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนท้องถิ่น โดยมีกลุ่มสมุนไพรบ้านทาม อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ภายใต้การดูแลของ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยในปัจจุบันปริมาณการรับซื้อสมุนไพรเพชรสังฆาตเฉลี่ย 5 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งหากมีวิจัยต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนจากภาคนโยบายให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น จะสามารถรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย
ความสำเร็จครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างครบวงจร และยังได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้แผนงานวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง (Product Champion) แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสมุนไพรไทยในการรักษาโรค ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน