วันนี้ (22 กันยายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม “PMU Forum ด้านการแพทย์และสุขภาพ” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยเชิญผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.),สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกันหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนประเด็นด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อเสริมพลังในการพัฒนาประเทศ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกลไกความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยวันนี้มีการนำเสนอในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model โดยจะเห็นได้ว่าในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ฉบับปี พ.ศ.2566 – 2570 มีจุดมุ่งเน้นด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model ด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงจุดมุ่งเน้นด้านวัคซีน ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ ยาและชีววัตถุ โดยการประชุมในวันนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงานอีกด้วย
ทางด้าน รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกสว. ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการจัดการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนนักวิจัยด้านการแพทย์ เพื่อรับฟังถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานจากมุมมองนักวิจัยและเครือข่าย เพื่อให้ภาคส่วนนโยบายสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
โดยจากการประชุมดังกล่าวนักวิจัยได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการงานวิจัย COVID Research Consortium สามารถเชื่อมโยงทั้งภาคนโยบายและภาควิชาการ รวมถึงมีความร่วมมือในระดับนานาชาติ ข้อเสนอแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการวิจัยในรูปแบบ Covid-19 & EID Research Sandbox เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคนโยบายและภาควิชาการ ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ โดยอาจใช้กลไกการบริหารจัดการทุนในรูปแบบพิเศษ (Research Sandbox)
นอกจากนี้ การประชุมในวันนี้ยังมีวาระสำคัญคือ การผลักดันการนำผลงานด้าน ววน. การแพทย์และสุขภาพ ไปสู่การใช้ประโยชน์ ปี พ.ศ. 2565, การทำงานร่วมกัน ระหว่างแผนขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และแผนด้าน ววน. การแพทย์และสุขภาพ และ บทบาทของ PMU บน Value Chain การวิจัยและพัฒนา ด้านการแพทย์และสุขภาพ กับการบริหารงบประมาณ ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยภาพรวมการประชุมในวันนี้ทุกฝ่ายต่างพร้อมใจกันสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันต่อไป