อว. จับมือ ป.ป.ส. ใช้ประโยชน์พืชกระท่อม พร้อมเดินหน้าพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมใหม่ เพื่อคนไทย
วันนี้ (3 ธันวาคม 2564) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) การสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ณ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นพยานความร่วมมือ
ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเป็นนโยบายหนึ่งที่ อว. ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมามีการนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง การลงนามความเข้าใจในการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมด้วยการวิจัยและนวัตกรรมในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญในการนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อผลักดันให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยใช้การวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อมอย่างครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
รวมทั้งการพัฒนาด้านวิชาการ และการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสอดคล้องกับองค์ความรู้และบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ อว. ได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ภายใต้บันทึกความเข้าใจ “การสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม” ในครั้งนี้
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วยยกระดับ เพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน การที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เข้ามามีส่วนร่วมในการลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับองค์ความรู้ต่อพืชกระท่อมของประเทศไทย
โดยจะส่งผลโดยตรง ต่อการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการเข้ามามีส่วนร่วม ศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนา องค์ความรู้ และนวัตกรรมต่อพืชกระท่อมระดับมหาวิทยาลัย อุดมศึกษา และนักวิชาการ หลังจากนี้การทำการวิจัยต่าง ๆ จะสามารถทำได้สะดวกและมีทิศทางมากขึ้น โดย อว. จะเป็นตัวกลาง ในการส่งเสริมด้านงบประมาณ และข้อมูลในการอ้างอิงที่สามารถแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์ระหว่างองค์กร มหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ที่วิจัยพืชกระท่อมได้
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการ ระบบบริการสุขภาพและการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสอดคล้องกับองค์ความรู้และบริบทของพื้นที่ ในอนาคตงานวิจัยเหล่านี้ ประชาชนจะสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อยอด สามารถใช้ได้ในหลากหลายมิติ แต่ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมาย และนโยบายที่เหมาะสม”