พม. คุมเข้มป้องกันไม่ให้มีขอทาน ตัดวงจรธุรกิจบาป เน้นพัฒนาทุนมนุษย์ สร้างอาชีพ-รายได้
พม. คุมเข้มป้องกันไม่ให้มีขอทาน ตัดวงจรธุรกิจบาป เน้นพัฒนาทุนมนุษย์สร้างอาชีพและรายได้
วันที่ 10 มกราคม 2565 เวลา 13.00 น. ณ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการนำของ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคนขอทานมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการขอทานเป็นเสมือนธุรกิจบาป ที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และผลักดันให้ผู้ทำการขอทานที่เป็นกลุ่มเปราะบางประสบปัญหาทางสังคม ได้มีโอกาสที่จะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี
จากสถิติตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น จำนวน 6,213 ราย แบ่งเป็น คนไทย จำนวน 3,956 ราย (ร้อยละ 63.67) และคนต่างด้าว จำนวน 2,257 ราย (ร้อยละ 36.32) ซึ่ง พม. โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ส่งชุดปฏิบัติการ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินงาน ดังนี้
กรณี 1 ผู้ทำการขอทานคนไทย เมื่อทำการฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี จับกุม/ปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่หากคัดกรองแล้ว พบว่า 1) ผู้ทําการขอทานเป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือ ทุพพลภาพ ที่ต้องดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายเฉพาะ 2) หากเป็นคนไร้ที่พึ่ง ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู แล้วยินยอมเข้ารับการคุ้มครอง จะถูกส่งตัวเข้ารับการคุ้มครอง ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่หากหลบหนี ก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย
กรณี 2 ผู้ทำการขอทานต่างด้าว จะถูกดำเนินคดี เมื่อสิ้นสุดคดีแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการส่งตัวผู้ทำการขอทานไปยังกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง หรือส่งกลับประเทศต้นทาง
กรณี 3 ผู้ทำการขอทานต่างด้าวที่มาเป็นคู่กับเด็กแล้วไม่มีหลักฐานในการยืนยันความสัมพันธ์ จะต้องดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ หากพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต จะดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า พม.จะดำเนินการในการควบคุมผู้ทำการขอทานอย่างเข้มข้น แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 โดยได้ดำเนินการ ดังนี้
ดังนี้
- รณรงค์เรื่อง การให้ทานให้ถูกวิธี
- การให้ข้อมูล ความรู้ด้านกฎหมาย แก่ประชาชน และกลุ่มขอทาน ให้ทราบ รับรู้ และตระหนักว่า การขอทาน ผิดกฎหมาย
- การบูรณาการกับภาคีเครือข่ายในการจัดระเบียบขอทานอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัด สกัดกั้น คุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้กลับมาทำการขอทานซ้ำ
- การพัฒนาองค์ความรู้และกลไก แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน
- การจัดทำแนวทางการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ในลักษณะแบบขั้นบันได ครั้งที่ 1 จำนวน 500 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ครั้งที่ 3 จำนวน 5,000 บาท และครั้งที่ 4 จำนวน 10,000 บาท เป็นการป้องปรามผู้ทำการขอทานให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ทั้งนี้ หากยินยอมเข้ารับการคุ้มครองแล้ว ภายหลังหลบหนีออกจากสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต การเปรียบเทียบปรับ ครั้งที่ 1 จำนวน 2,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 5,000 บาท และครั้งที่ 3 จำนวน 10,000 บาท ตามลำดับ
- การเผยแพร่คู่มือการจดแจ้งขอบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถฉบับประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาผู้แสดงความสามารถ แยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทาน ตลอดจนมีการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน เปิดพื้นที่แสดงความสามารถให้กับผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ อันจะนำไปสู่การเปิดโอกาสในการมีงานทำ การมีรายได้ และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนเป็นการป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เข้าสู่กระบวนการขอทาน
พบเห็นผู้ทำการขอทาน โทร 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง