วุฒิสภา ผนึกสสส. สำนักงานเขตพระนคร. สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้”
เมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00 น. ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5 ตอน สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “Smart City : เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย” และมอบสื่อประชาสัมพันธ์ “ขอบคุณ ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ใช้รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศ พบว่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนแม้จะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีตัวเลขที่สูงอยู่ ดังจะเห็นได้จากผู้เสียชีวิต ปี 2564 มีจำนวนถึง 16,957 ราย (คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 25.8/แสนประซากร หรือ 47 ราย/วัน) ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่มีสภาวะเปราะบาง เช่น คนเดิน/ข้ามถนน 68% ในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยสูงถึงปีละ 800- 900 ราย จากข้อมูลที่รวบรวมโดย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าในช่วง 4 เดือนของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2565) มีคนเดินถนนในกรุงเทพมหานครเสียชีวิต 28 ราย คิดเป็น 9% ของผู้เสียชีวิตจากการข้ามถนนทั้งหมด
ในด้านของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อความเสี่ยง สำหรับคนเดิน/หรือข้ามถนนในกรุงเทพมหานคร พบว่ารถใช้ความเร็ว ไม่ชะลอหรือหยุดให้คนข้าม ถนนมีหลายช่องจราจรทำให้มีจุดบดบังสายตา จุดข้ามไม่ชัดเจนหรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีสัญญาณให้คนขับรถทราบก่อนมาถึง (ตัวอย่างเมืองโบโกต้า โคลอมเบีย ชี้ให้เห็นว่าการลดความเร็วจาก 70 -> 60 km/r. สามารถลดการตายได้ 11% ใน 1 ปีหลังจากนั้น)
กรุงเทพมหานคร มีนโยบายเป็นเมืองน่าอยู่-ปลอดภัย กอปรกับรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คน/ประซากรแสนคน ในปี 2570 โดยใช้แนวคิดเน้นการจัดการเชิงระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) ที่มองว่าคนมีข้อจำกัดและผิดพลาดได้เสมอ ระบบที่ปลอดภัยต้องช่วยป้องกันและลดความสูญเสีย คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ซึ่งมีเป้าหมายร่วมในเรื่องความปลอดภัยของคนเดินถนน ตระหนักว่ากรุงเทพมหานคร มีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมและบรรลุผลในการจัดการเรื่องนี้ให้เป็นแบบอย่างกับเมืองใหญ่ทั่วประเทศ