“ออมเวลา” สำคัญ! เท่า “ออมเงิน” สสส. – ภาคีเครือข่าย เผย ไทยเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุด อีกไม่ถึง 20 ปี เสี่ยงพบผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตแย่เพิ่มขึ้น ชวนรู้จัก “ธนาคารเวลา” นวัตกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชนและดูแลผู้สูงอายุ ได้ผลตอบแทนเป็นเวลา.
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แนวคิดธนาคารเวลา (Time Bank) มีจุดเริ่มต้นจากญี่ปุ่น ที่พบสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทย ต้องคิดวิธีรับมือแก้ปัญหาสังคมสูงวัยให้เหมาะสมกับบริบทต่างๆ ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 30% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสูงสุด” (Super – aged society) ทำให้ สสส. ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย พัฒนาแนวคิดธนาคารเวลาเพื่อรองรับสูงวัย เพื่อเป็นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมให้ชุมชนช่วยกันดูแลกัน และช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีความต้องการ ด้วยวิธีที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ โดยสมาชิกธนาคารเวลาจะได้รับการตอบแทนในรูปแบบเวลาที่สะสมไว้
“เนื่องในวันผู้สูงอายุสากลปีนี้ สสส. ยังยึดมั่นสร้างสุขภาวะให้ผู้สูงอายุทุกกลุ่ม และพัฒนาระบบ กลไกต่างๆ ที่รองรับสังคมสูงวัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติเรื่องสังคมสูงวัย ที่ยกให้แนวคิดธนาคารเวลาเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วน ที่ภาครัฐสนับสนุนให้ทุกฝ่าย ดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย รู้จัก เข้าใจ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย : นวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย จะช่วยพลิก “วิกฤติ” เป็น “โอกาส” แก้ไขปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงสร้างการช่วยเหลือเกื้อกูล และสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนวัยต่างๆ ในชุมชนได้ โดย สสส. มีเจตนารมณ์ในการพัฒนานวัตกรรมระบบ กลไกต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยจนเกิดเป็นกลไกและนโยบายที่ยั่งยืน ซึ่งธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยนี้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้” นางภรณี กล่าว
นางปิติพร จันทรทัต ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาชุมชนรองรับสังคมสูงวัย กล่าวว่า โครงสร้างประชากรในไทยเปลี่ยนไป เพราะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ แนวคิดธนาคารเวลาเป็นนวัตกรรมเชิงระบบ เริ่มตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยแต่ละชุมชนจะพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ แบ่งกลุ่มย่อยดูแลผู้สูงอายุตามความถนัด เช่น ขับรถพาไปโรงพยาบาล-ซื้อของ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมประปา ตัดต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ตัดผม แม้กระทั่งตัดเล็บ เพราะมีผู้สูงอายุบางคนที่ตัดเล็บเท้าตัวเองไม่ได้ โดยมีค่าตอบแทนเป็นเวลาแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ช่วยป้องกันการพลัดตก หกล้ม มีเป้าหมายทำให้สังคมตระหนักว่า การ “ออมเวลา” สำคัญไม่น้อยไปกว่าการ “ออมเงิน” เพราะจะทำให้ทุกคนรู้จักคุณค่า ทักษะ และความสามารถของตัวเอง
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สังคมสูงวัยในไทย กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ 5 ข้อ ที่ต้องเตรียมรับมือกับสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคต 1.คนไทยจะมีอายุยืนมากขึ้น 2.คนไทยที่อายุยืนมีเงินไม่พร้อมในวัยเกษียณ 3.สังคมไทยจะเปลี่ยวเหงามากขึ้น เพราะค่านิยมไม่แต่งงาน ไม่มีลูกหรือมีลูกน้อย และคู่แต่งงานผู้ชายจะเสียชีวิตก่อนผู้หญิง 4.สังคมต้องการความหลากหลาย ผู้สูงอายุในวัยเกษียณยังต้องการทำงานระยะยาว และไปเที่ยวตามความต้องการ 5.ระบบทุนนิยม ทำให้การตีค่าคนไม่เท่ากัน เช่น คนฐานะดีจะถูกตีราคาสูง ผู้มีรายได้น้อยถูกตีราคาต่ำ ขณะที่แนวคิดธนาคารเวลาช่วยสร้างสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี 8 ข้อ 1.สังคมเกิดการรู้จักกัน 2.สามัคคีกัน 3.เกิดการเรียนรู้ในชุมชน 4.มีกิจกรรมร่วมกัน 5.เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน 6.ใส่ใจดูแลกัน 7.ช่วยจัดการปัญหาสังคม 8.พึ่งพากันในยามวิกฤต หากมองวิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่มีจิตสาธารณะ อยู่กันแบบเครือญาติ จึงเชื่อว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่และสถานการณ์ได้ เช่น การตั้งระบบจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ การทำชุมชนช่วยเรื่องโควิด ตั้งชมรมอนุรักษ์ประเพณี เพื่อให้เกิดสังคมสูงวัยที่มีสุขภาวะดี