หอการค้าไทย-จีน MOU ซี.ซี.ไอ.ซี ตรวจคุณภาพผลไม้หนุนส่งออก คาดวัคซีนเอาโควิดอยู่ เตรียมเดินหน้าเจรจาการค้า-ลงทุน2ชาติ

หอการค้าไทย-จีน เปิดโต๊ะลงนาม ซี.ซี.ไอ.ซี (ประเทศไทย) องค์กรชั้นนำของจีน ให้บริการตรวจสอบคัดกรองคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้ไทย วางเป้าปี’64 การค้า-การลงทุน ไทย -จีน มูลค่ารวมแตะ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังได้วัคซีนควบคุมโควิด 19 เตรียมโรดโชว์ 22 มณฑล เดินหน้าเจรจาขับเคลื่อนการค้า การลงทุน สองประเทศ มั่นใจจีนเล็งไทยเป็นฐานการผลิตอันดับต้นในกลุ่มอุตสาหกรรม New S Curve ปักหมุดในอีอีซี

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2564) ได้ลงนามความร่วมมือ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ความร่วมมือแบบ วิน-วิน” กับ บริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมขยายการส่งออกของสมาชิกในการทำธุรกิจส่งออกไทยไปยังตลาดจีน ภายใต้กฎระเบียบกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ รวมทั้งการขอและออกใบรับรองสุขอนามัย และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลไม้บางชนิด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งออกผลไม้ไทยมีความสะดวกรวดเร็วไปจีนมากขึ้น เป็นการลดปัญหา และอุปสรรคในขั้นตอนการส่งออกสินค้า ที่ไม่ตกค้าง และเกิดการสูญเสีย โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในการเตรียมความพร้อมการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 คลี่คลาย จากการที่รัฐบาลมีความชัดเจนในการจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมให้กับประชาชนในประเทศ


ทั้งนี้ในปี 2563 แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 แต่พบว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีน ยังมีการขยายตัวเล็กน้อยโดยมีมูลค่ารวม 79,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.16% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย ซึ่งการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดจีน มีมูลค่า 29,754 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการขยายตัวตลอดทั้งปีอัตราเฉลี่ย 2 % โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ของไทยไปยังประเทศจีนมีมูลค่า 2,908 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการขยายตัว 39.43% โดยสินค้าทุเรียนสดเพียงรายการเดียวมีมูลค่าถึง 1,508 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการขยายตัว 77.57% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือกับบริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้บริการการตรวจสอบคุณภาพและตรวจสอบย้อนกลับแก่ผู้ส่งออกทุเรียนไทย

สำหรับการค้าระหว่างไทย -จีน โดยรวมในปี 2564 มีเป้าหมายมูลค่าอยู่ที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายหอการค้าไทย-จีน ยังได้มีความร่วมมือกับ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPT) เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการค้าการลงทุนทั้งสองประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจการค้า รวมถึง กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการต่างๆแนวโน้มและมาตรฐานอุตสาหกรรม รายงานการวิเคราะห์ด้านการตลาด รวมถึงการเชิญชวนของคณะนักธุรกิจและผู้แทนทางการค้าระหว่างกัน เป็นต้น


อย่างไรก็ตามในปี2564นี้หอการค้าไทย-จีน เตรียมแผนเดินสาย 22 มณฑล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนไทยและ จีน ถึงทิศทางความต้องการของนักธุรกิจจีนจะเข้ามาลงทุนในไทย และความต้องการของนักธุรกิจไทยส่งออกไปจีน โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงเชื่อว่าการค้าและการลงทุนจะขยายตัว โดยไทยจะเป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญในการเป็นฐานการผลิตเชื่อมโยงไปยังประเทศอาเซียน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเน้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S Curve ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี อิเล็กทอนิกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น

นายหลิ่ว หัวลวี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด


นายหลิ่ว หัวลวี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นองค์กรที่สำคัญของจีนที่มีหน้าที่ให้บริการด้านการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทำให้โรงงานบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทยหลายแห่งจึงเลือกใช้บริการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดของบริษัท CCIC (ประเทศไทย) โดยสมัครใจ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลและผู้บริโภคจีน และยังสามารถป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปลอมแปลงของผลไม้จากประเทศอื่นว่าเป็นผลไม้ของไทยและส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ให้บริการแก่สินค้าทุเรียน มังคุด และลำไยที่ส่งออกไปยังประเทศจีนกว่า 8,000 ล้านบาท

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *