สปส.พร้อมส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เร่งขับเคลื่อนนโยบายปี 66 พัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด
ในงานแถลงข่าวสรุปผลงานเด่น ปี 2565 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้กล่าวถึงของขวัญปีใหม่ ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พี่น้อง ผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จำนวน 4 ชิ้น และได้เริ่มดำเนินการแล้วในขณะนี้ คือ
ชิ้นที่ 1 ให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ในเรื่องของการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยสำนักงานประกันสังคม ร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด จากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. “โครงการสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน” วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี
ชิ้นที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด สำนักงานประกันสังคม ได้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพ การเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค โดยร่วมกับสถานพยาบาลที่บันทึกข้อตกลงร่วมมือการให้บริการ จำนวน 10 แห่ง แบ่งตามกลุ่มบริการ 1. การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 2. ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก 3. ผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี 4. หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 5. หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะต้องมีการติดตามและประเมินผลเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป
ชิ้นที่ 3 ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ซึ่งได้มีการ Kickoff โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนเชิงรุก โดยร่วมมือกับสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก ดังนี้ 1.เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ 2.แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย 3.โรงพยาบาลนัดหมายประเมิน เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน 4.ติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม
เป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะนำไปสู่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย
ชิ้นที่ 4 ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง สำนักงานประกันสังคม ได้แก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสียอยู่ที่ 200 ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบ ในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสีย และการเรียกเก็บเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 22 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว (การแก้ไขหลักเกณฑ์ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 229.22 ล้านบาท)
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของสำนักงานประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นในปี 2566
การพัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน
สร้างการรับรู้ โดยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร สาระความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อเข้าถึงนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้นำ Social Media เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับสำนักงานประกันสังคมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการ เน้นการปรับเปลี่ยนราชการสู่ความเป็นดิจิทัล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน อย่างโปร่งใส เข้าถึงง่าย รวดเร็ว แม่นยำ ลดความซ้ำซ้อน และสามารถเชื่อมโยงการบริการของหน่วยงานรัฐได้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อพี่น้องประชาชน การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้มีความทันสมัย คล่องตัว โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ซึ่งในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมได้ผ่านผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ได้คะแนน 90.24 อยู่ในระดับ A สร้างองค์กรที่เป็นสุขต้องสร้างความสมดุลให้ชีวิตทั้งการงาน ครอบครัว และสุขภาพ
โดยการรักษาสมดุลในการบริหารงานและชีวิต Work Life Balance เปลี่ยนจากการทำงานหนัก บริหารชีวิตให้เหมาะสม รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัย และรักษามาตรฐานการให้บริการตามมาตรฐานการให้บริการ ของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) และให้บริการกับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสูงสุด โดยยึดหลักพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงานเป็นศูนย์กลาง
การขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญ
การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนในทุกมาตรา โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ออกหน่วยเคลื่อนที่บริการเบ็ดเสร็จ (Service Delivery Unit) การรักษาอัตราการจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ผ่านกลไกเครือข่าย บวร และ “ครอบครัวประกันสังคม” ทั่วประเทศให้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการเข้าสู่ระบบประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยแต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล (ไป-กลับ) เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีติดเชื้อโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน ขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน การติดตามเร่งรัดหนี้ เช่น เร่งรัดหนี้เงินสมทบ (ติดตามนายจ้าง) ปรับปรุงแนวปฏิบัติ และกระบวนการติดตามเร่งรัดหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ (ติดตามผู้ประกันตน) กำหนดตัวชี้วัดรายจังหวัด การพัฒนาระบบสารสนเทศ ติดตั้งระบบเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พัฒนาระบบบริการ ทางการแพทย์ พร้อมการประชาสัมพันธ์เชิงรุก พัฒนาการสื่อสาร สร้างการรับรู้ เรื่องการประกันสังคม และภาพลักษณ์องค์กรที่ตรงใจ กระชับ ฉับไว เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า ” ผม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนงานประกันสังคมภายใต้แผนปฏิบัติราชการสำนักงานประกันสังคม ในระยะ 5 ปี (2566-2570) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความเชื่อมั่น ด้านการให้บริการประกันสังคมที่ทันสมัย” สามารถสร้างหลักประกัน ทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะ และทุกกลุ่มนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป”