ซีพีเอฟ ร่วมมือพันธมิตร เดินหน้าศูนย์ FLEC หนุนแรงงานข้ามชาติในห่วงโซ่ประมงสงขลา พึ่งตนเองสร้างความมั่นคงทางอาหาร
จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีชุมชนแรงงานข้ามชาติหลายหมื่นคนเข้ามาอาศัยทำงานในภาคประมงและกิจการต่อเนื่องประมงทะเล ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานข้ามชาติต้องขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดลง กระทบกับโอกาสการเข้าถึงอาหารปลอดภัย และอุปกรณ์การป้องกันโรคระบาดที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม
“เซทมิน โลม” ชาวกัมพูชา อายุ 36 ปีกับภรรยาและลูก 2 คน เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลาประมาณ 6 ปี เชทมิน ไม่ได้เป็นลูกเรือบนเรือประมง แต่ทำงานรับจ้างทั่วไป ขนปลาตามแพปลาโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ส่วนภรรยารับจ้างตัดหัวปลา รับค่าจ้างรายวันแบบเหมาชิ้น รายได้จึงไม่คงที่ขึ้นอยู่กับงานในวันนั้นมากหรือน้อย จากผลกระทบที่เกิดขึ้นครอบครัวของเซทมินจึงต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องที่พักอาศัยและอาหารการกินของสมาชิกในครอบครัว
เซทมิน ใช้เวลาหลังเลิกงานที่ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้า มาปลูกผักสวนครัวใกล้กับที่พัก ได้รับการสนับสนุนทั้งความรู้วิธีการ และอุปกรณ์การปลูกผักจากศูนย์ฯ ผักสวนครัวที่ปลูกเป็นชนิดที่เก็บกินได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องไปซื้อตลาด และยังเป็นผักที่ไม่ใช้สารเคมี มั่นใจได้ว่าลูกของตนเองได้กินของดี ปลอดภัย ปลอดสาร ตนมีความรู้การปลูกผักจากการจัดอบรมของศูนย์ FLEC และได้รับการสนับสนุนเมล็ดผัก ดิน ปุ๋ย กระถาง และอุปกรณ์ต่างๆ
“ในช่วงโควิด การมีผักที่ปลูกไว้ที่บ้าน ทำให้ไม่ต้องออกไปเสี่ยงกับโรคระบาดที่ตลาดสด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ครอบครัวจึงลดภาระมาก และลูกๆก็ไม่ต้องเสี่ยงกับผักที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับความรู้และอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันโควิด”
โชคดีที่เซทมิน และเพื่อนๆ แรงงานข้ามชาติหลายครอบครัว มีผักอินทรีย์ที่ปลูกไว้ข้างบ้าน ช่วยให้เซทมินมีวัตถุดิบปลอดภัยอย่างเพียงพอใช้ปรุงอาหารให้ทุกคนในครอบครัวได้อิ่มท้องทุกมื้อในช่วงที่งานและรายได้ลดลง เซทมินมีความรู้การปลูกผักอินทรีย์จากเจ้าหน้าที่ของศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจัดกิจกรรมการสอนทำอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องการความมั่นคงทางอาหาร ปัจจจุบัน ศูนย์ FLEC ได้ดำเนินต่อเนื่องเข้าสู่ระยะที่ 2 (2564-2568) โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นภาคเอกชนที่ร่วมก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ร่วมกับอีก 6 องค์กร ประกอบด้วย องค์การสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP
เช่นเดียวกับ “วี ฮิม” อายุ 40 ปี เป็นอีกครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานรับจ้างทั่วไปในจังหวัดสงขลานานกว่า 20 ปี อยู่กับสามีและลูก 2 คน ใช้เวลาหลังเลิกงานในตอนเย็นปลูกผักสวนครัว โดยใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ FLEC ในช่วงการระบาดโควิด-19 ต้องขาดรายได้เพราะต้องกักตัวที่บ้านหลายวัน “วี” และครอบครัว จึงได้พึ่งผักสวนครัวที่ปลูกไว้หลังบ้านมาใช้ทำอาหารกินที่บ้าน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และสะดวกขึ้นไม่ต้องออกไปตลาด ไม่ต้องเสี่ยง
นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ นำความเชี่ยวชาญและเครือข่ายของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมมาขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการใช้แรงงานบังคับและผิดกฎหมายทุกชนิด และยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในภาคประมงและกิจการต่อเนื่องในจังหวัดสงขลา สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 นี้ ศูนย์ฯ จะให้ความสำคัญกับการอบรมให้ความรู้แก่แรงงานเรื่องการปลูกผักเพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือน โดย นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสู่การปฏิบัติจริง เพื่อช่วยให้แรงงานข้ามชาติสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตอาหารปลอดภัย โดยซีพีเอฟจะเข้าสนับสนุนเรื่องอาหารส่วนเกิน สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับครอบครัวแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติและครอบครัวมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะทะเล
“เซทมิน โลม” ยังเสริมอีกว่า ตนและครอบครัว และเพื่อนๆ ได้รับประโยชน์จากศูนย์ FLEC มากมาย ตั้งแต่ การศึกษาของลูก โดย ลูกชายคนโตของเซทมินมีโอกาสได้รับการศึกษาตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกับเด็กไทยคนอื่น ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 1 (ถนนนครนอก) ส่วนลูกสาวคนเล็กตนก็เตรียมให้เข้าเรียนกับห้องเรียนเตรียมความพร้อมวัยก่อนเรียน
นอกจากนี้ เซทมิน และ วี ยังเข้ามาปรึกษาขอคำแนะนำในเรื่องต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ที่อยู่สำนักงานศูนย์ FLEC ตั้งอยู่ที่ท่าเทียบเรือประมงสงขลา ช่วยให้มีความรู้และสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ ในยามเจ็บป่วย ก็สามารถเข้ามาที่ศูนย์ฯ เพื่อขอยารักษา และรับหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ป้องกันโรคระบาด ครอบครัวของเซทมินและครอบครัวของวีมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และไม่เดือดร้อนเรื่องอาหารตลอดช่วงการระบาดโควิด-19.