รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” พร้อมนำคณะผู้บริหารร่วมถวายราชสดุดีเนื่องใน “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำนุบำรุงการแพทย์แผนไทยให้รุ่งเรือง
วันนี้ (29 ตุลาคม 2566) ที่ สวนสมุนไพรเทวะเวสม์รมณีย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายแพทย์แผนไทย ร่วมพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พร้อมวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสดุดี เนื่องในวันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ
นายสันติ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ โดยพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการแพทย์และการสาธารณสุข คือ การรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ในวงกว้าง ก่อให้เกิดภูมิปัญญา ที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบการแพทย์แผนไทยและการสาธารณสุขของประเทศ จากครั้งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2374 ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ทรงทอดพระเนตรเห็นความชำรุด ปรัก หัก พัง ของพระอุโบสถ พระวิหาร รวมถึงภายในอาณาบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร จึงมีพระบรมราชโองการและพระราชศรัทธาให้ปฎิสังขรณ์ และให้หมอหลวง หมอยา รวบรวมจารึกตำราการแพทย์แผนไทย ติดประดับไว้ตามศาลารายทั้ง 16 หลัง อาทิ แผนฝีดาษ แผนกุมาร แผนแม่ซื้อ เป็นต้น และจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตนตั้งไว้ตามเขามอ รวม 16 เขามอ ทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญรุ่งเรืองและเกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง เกิดอาชีพ สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตำรับยา และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยองค์การ UNESCO ได้ประกาศรับรองให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ”
“กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความสำคัญของการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาถึงอนุชนรุ่นหลัง และจะน้อมนำแนวพระราชดำริในการสืบสาน รักษา อนุรักษ์ คุ้มครอง และต่อยอดการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ” นายสันติกล่าว
ด้านนายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มีการสำรวจรวบรวมตำรับ/ตำรา ภูมิปัญญาทั่วประเทศ มากกว่า 300,000 ตำรับ โดยได้ประกาศคุ้มครองเป็นตำรับตำราของชาติ 51,880 ตำรับ และนำเข้าฐานข้อมูลภูมิปัญญาอิเล็กทรอนิกส์ HMPIS 38,780 ตำรับ รวมทั้งมีการสังคายนาตำรับ/ตำราดังกล่าว เป็นตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ 324 ตำรับ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้รักษาผู้ป่วยทั้งศาสตร์การแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน รวมถึงนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในระบบบริการ การศึกษาวิจัย การเรียนการสอน และส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วประเทศ ให้มีความสะดวกในการขอจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากยิ่งขึ้นด้วย