สอวช. ยินดี “รศ.พานิช อินต๊ะ” มติสภามหาวิทยาลัยฯ เห็นชอบเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านนวัตกรรมคนแรกไทย

สอวช. ยินดี “รศ.พานิช อินต๊ะ” สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติเห็นชอบเสนอเรื่องโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านนวัตกรรมคนแรกของประเทศไทย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ขอแสดงความยินดีกับรองศาสตราจารย์พานิช อินต๊ะ เนื่องในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติเห็นชอบเสนอเรื่องโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์(สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า) ด้านนวัตกรรม คนแรกของประเทศไทย โดยตำแหน่งดังกล่าว ถือเป็นต้นทางในการสนับสนุนเส้นทางการพัฒนาผลงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และนำไปสู่การกระตุ้นจีดีพีในภาพรวมประเทศให้เติบโตสูงขึ้น

สำหรับที่มาของแนวคิดการขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรมเกิดจากกระทรวงอว. มีนโยบายใน
การส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมด้วยการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศ จึงมีการจัดทำเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทการทำงานและเส้นทางอาชีพของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ในการสร้างผลงานด้านนวัตกรรม ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านสังคม ที่สามารถประเมินผลลัพธ์และผลกระทบได้ในวงกว้าง ทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณะ รวมถึงเพื่อสนับสนุน
การทำงานเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ชุมชนและสังคม เพื่อขยายการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

การพัฒนางานด้านนวัตกรรมเป็นงานยาก ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์และประเมินผลที่สามารถนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์และผลกระทบในวงกว้างได้อย่างแท้จริง สอวช. ในฐานะส่วนหนึ่งของคณะทำงานจัดทำแนวทางการแต่งตั้งอาจารย์ประจำให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรม ที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ ได้ดำเนินการร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาและจัดทำแนวทางการประเมินตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม สนับสนุนให้อาจารย์สร้างผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและสามารถนำผลงานมาใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรมได้ ซึ่งประเทศไทยมีอาจารย์จำนวนมากที่ผลิตผลงานนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ แต่อาจไม่ได้แสดงผลงานในรูปแบบของการตีพิมพ์ จึงทำให้มีข้อติดขัดในการขอตำแหน่งทางวิชาการรูปแบบเดิม


“นโยบายสนับสนุนการใช้ผลงานทางนวัตกรรมเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเติบโตทางด้านการทำงาน ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในงานที่ทำ สามารถประเมินผลลัพธ์และผลกระทบที่ตอบโจทย์ประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มอาจารย์ และช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการพัฒนานวัตกรรมได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจนการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาการศึกษา สังคม สุขภาพและบริการภาครัฐ”

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *