ที่ปรึกษาวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศ RSU พร้อมผลิตบัณฑิตสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ เพิ่มศักยภาพเยาวชนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยไปสู่ความสำเร็จ
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประกาศตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศ เป็นจำนวนกว่า 40 ล้านคนในปี 2025 โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะสั้น ร้อยละ 75 และตลาดระยะยาว ร้อยละ 25 เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับเป็นผู้เล่นรายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
คุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงาน “RSUniverse 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต” ที่จัดขึ้น ณ ห้องกมลทิพย์ 2-3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ วันที่ 16 มกราคม 2568 ว่า การท่องเที่ยวนับเป็น กำลังที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ สถาบันการศึกษาจึงมีความสำคัญในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ และจะต้องเข้าใจบริบทของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เสริมทักษะและสร้างศักยภาพนักศึกษาให้พร้อมรับมือการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่
เมื่อสถาบันการศึกษาเข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ม.รังสิต นับเป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมทั้งในด้านวิชาการและเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย โดยวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดหลักสูตรการสอนทั้งหมด 5 สาขาวิชา ประกอบด้วย 1. สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบินและการขนส่ง 2. สาขาวิชาการจัดการการโรงแรมและภัตตราคาร 3. สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ 4. สาขาวิชาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร หลักสูตรที่ครอบคลุมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ 5. Tourism, Hospitality and Sports (International Programme) วิทยาลัยฯ เล็งเห็นโอกาสและทิศทางที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงาน โดยมีการวางแผนยุทธศาสตร์สำคัญที่จะใช้เป็นแนวทางเพื่อพัฒนาและต่อยอดหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเน้นรูปแบบที่เรียกว่า “Story of MORE”
M คือ Manpower : ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสอดคล้องต่ออุตสาหกรรมการบริการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
O คือ Opportunity : สร้างโอกาส คว้าโอกาส และเชื่อมโอกาสของนักศึกษากับพันธมิตรต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการบริการระดับโลก
R คือ Resilience : ปรับตัว ยอมรับ และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการบริการระดับประเทศและระดับโลกอุตสาหกรรมการบริการ
E คือ Entrepreneur Mindset : เสริมสร้างความพร้อมในทุกมิติเพื่อให้นักศึกษา ไม่ได้เป็นเพียงแรงงาน แต่ยังมีแนวความคิดด้านผู้ประกอบการในอนาคต
ทั้งนี้ วิทยาลัยฯ มีการนำยุทธศาสตร์ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 4 โดยมีคอนเซ็ปต์ดังนี้ ชั้นปีที่ 1 เน้นเรื่องของ More Grow: Growth in Mindset and Behavior การปรับพื้นฐานในทุกรายวิชา เพื่อปรับตัวให้พร้อมต่ออุตสาหกรรมการบริการ ชั้นปีที่ 2 เน้นเรื่องของ MORE SKILLS: Skillful in Hospitality Service พัฒนาทักษะหลายทั้ง Hard Skill และ Soft Skills เพื่อสร้างศักยภาพให้มีทักษะการบริการที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ชั้นปีที่ 3 เน้นเรื่องของ MORE PROFESSIONAL: Professional with Confidences เพิ่มความมั่นใจและความเป็นมืออาชีพต่อสายงานที่ทำภายใต้อุตสาหกรรมการบริการ และชั้นปีที่ 4 เน้นเรื่อง MORE READINESS: Ready for Global service Industry พร้อมต่อยอดสู่การทำงานในอุตสาหกรรมระดับประเทศและระดับโลก โดยมหาวิทยาลัยรังสิตได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักศึกษา ได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์จริง
อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังคงตระหนักถึงความสำคัญและเล็งเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ที่จะก้าวต่อไปในโลกอนาคตอย่างมั่นคง มีความพร้อมเปิดมิติใหม่แห่งการศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้เสมือนจริง มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเข้าไปเป็นฟันเฟืองเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน