“RSUniverse 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต” ย้ำมุ่งสร้างบัณฑิตคุณภาพ พร้อมสู่การทำงานจริง

มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานแถลงข่าว RSUniverse 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต และขอบคุณสื่อมวลชน ประจำปี 2568 โดยได้รับเกียรติจากดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธาน พร้อมกล่าวถึงความก้าวหน้าและการพัฒนาในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การมอบทุน 40 ปี 40 ทุน มหาวิทยาลัยรังสิต การสร้างอาคารใหม่ คณะบริหารธุรกิจ รวมทั้งการเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข ณ ห้องกมลทิพย์ 2-3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแถลงข่าวในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ISO17025 มาตรฐานสากล ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือ LAB โดย รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต , “ญี่ปุ่นสัมพันธ์” เดินหน้าสร้างความร่วมมือฝึกงานสหกิจ สร้างบัณฑิตไทยสไตล์ญี่ปุ่นสู่โลกแห่งการทำงานจริง โดย ผศ.ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต , ความพร้อมของ RSU ที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยไปสู่ความสำเร็จ โดย นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ ที่ปรึกษาวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต และ 16 ปี อาชญาวิทยา ม.รังสิต โดย รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีฝ่ายความปลอดภัย และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตเตรียมมอบทุนการศึกษาในโอกาสครบรอบ 40 ปี “Future Change Agent” โดยมหาวิทยาลัยรังสิตมีความภูมิใจในการผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ ยึดมั่นในคุณธรรม และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต จึงมอบทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร (100%) ให้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2568

ทุนการศึกษานี้มุ่งหวังที่จะมอบโอกาสให้ผู้ที่มีความตั้งใจในการใช้ความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสังคมและโลกในอนาคต ด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมและค่านิยมที่ดี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อสังคมในทุกมิติ เป็นการยกระดับการศึกษาและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีและมีคุณค่าต่อสังคม ซึ่งเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในการสร้างผู้นำที่มีคุณธรรมและมีความสามารถในการนำการเปลี่ยน แปลงที่สำคัญในอนาคต โดยทุนการศึกษาดังกล่าวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. พลังงานและสิ่งแวดล้อม 2. คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม และ 3. ศิลปะสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ หรือด้านอื่นๆ ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับจังหวัด ระดับชาติ ระดับนานาชาติ หรือผลงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วม workshop เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และเลือกเฟ้นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม การพิจารณาจะครอบคลุมถึงผลงานที่ผ่านมาของผู้สมัครในกลุ่มที่เลือกสมัครมา ผลงานที่ส่งเข้ามาต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำและศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลง การคัดเลือกในรอบสุดท้าย ผู้สมัครจะต้องแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะหลัก ดังนี้ 1. มีพลังเชิงบวกและสามารถสร้างความร่วมมือกับผู้อื่นได้  2. มีวิสัยทัศน์เชิงสร้างสรรค์  3. มีความเป็นผู้นำ นักวางแผนเชิงกลยุทธ์  4. มีความสามารในการเป็นผู้ประกอบการ และ 5. สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ทุนการศึกษานี้จะครอบคลุมเฉพาะการเรียนที่จัดสอนโดยมหาวิทยาลัยรังสิตเท่านั้นยกเว้น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ โดยมีกำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม -14 กุมภาพันธ์ 2568 ประกาศผลรอบคัดเลือก วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 120 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Work shop วันที่ 21-22 มีนาคม 2568 และประกาศผลผู้ได้รับทุนการศึกษา วันที่ 22 มีนาคม 2568 (จำนวน 40 ทุน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/haFncxO

ด้านรศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมเปิดให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ด้วยมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ให้กับสถานบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและย่านภูมิภาคอาเซียน ในปี 2568 โดยวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ผลิตบัณฑิตมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 ที่เน้นการให้การศึกษาในรูปแบบการให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์(Paradigm) ทางด้านการแพทย์จาก Volume Based เป็น Value Based ที่เน้นการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนแทนการดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้วิศวกรชีวการแพทย์ซึ่งมีบทบาทรับผิดชอบทางด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์และยารักษาโรค ซึ่งความถูกต้องและความแม่นยำของการทำงานของเครื่องมือแพทย์มีความสำคัญยิ่ง เพราะถ้าข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือแพทย์และการทำงานไม่ถูกต้องจะส่งผลทำให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคที่ผิดพลาดไปด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน

วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิตนั้น ได้เปิดศูนย์ที่ชื่อว่า ศูนย์นวัตกรรมและบริการวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering Inovation and Sevices Center: BIS Center) มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 และในปีการศึกษา 2564 มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับบริษัท อินช์เทค เมโทรโลจิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด (IMC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ในการสอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมกว่า 200 พารามิเตอร์ และมีโครงการที่จะขยายงานเพื่อให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ให้กับสถานบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและย่านภูมิภาคอาเซียน จนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ทางมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 จึงให้การรับรอง ส่งผลทำให้ศูนย์ BIS ภายใต้วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นศูนย์ที่สามารถให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 200 พารามิเตอร์ภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ร่วมกับ บริษัท อินช์เทค เมโทรโลจิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด (IMC) ได้ และจะเริ่มให้บริการภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป

ผศ.ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งมั่นพัฒนานักศึกษาให้มีความพร้อมสำหรับการประกอบวิชาชีพระดับสากล ผ่านโครงการฝึกงานสหกิจศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมที่นักศึกษาจะได้สัมผัสกับระบบการทำงานและวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ความสำเร็จของโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทั้งนี้ในปี 2566 มีนักศึกษารุ่นที่ 1 จำนวน 2 คน เดินทางไปฝึกงานที่ Fujiya Hotel เมือง Hakone จังหวัดคานางาวะ โรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีประวัติยาวนานกว่า 145 ปี และรุ่นที่ 2 มีนักศึกษาอีก 2 คนเข้าร่วมฝึกงานในตำแหน่งงานต้อนรับและบริการอาหารที่ Fujiya Hotel เช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา วิทยาลัยศิลปศาสตร์ได้เดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการในประเทศญี่ปุ่น โดยมีการเจรจากับองค์กรในหลากหลายสายงาน ทั้งด้านการโรงแรม ร้านอาหาร และงานในสำนักงาน ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสในการฝึกงานให้แก่นักศึกษา แต่ยังเปิดโอกาสให้องค์กรญี่ปุ่นได้พบนักศึกษาไทยที่มีความสามารถและพร้อมเรียนรู้

นอกจากการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นแล้ว วิทยาลัยศิลปศาสตร์ยังได้จัดให้มีโครงการสหกิจศึกษากับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย โดยนักศึกษาเหล่านี้ได้รับประสบการณ์ที่สำคัญและมีคุณค่าในการทำงานร่วมกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในอนาคต วิทยาลัยศิลปศาสตร์มีแผนขยายโครงการสหกิจศึกษาให้ครอบคลุมหลากหลายสายงานมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *