
“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมของประชาชน อันเนื่องมาจากการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ใน 3 กรณี คือ
1) กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือเกินสมควรแก่เหตุ
2) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
3) การที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญ
วันที่ 12 เมษายน 2543 เป็นวันสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 25 ปี ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส เปิดเผยตรวจสอบได้ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีขีดสมรรถนะสูง ทันสมัย และเป็นองค์กรให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนทั้งเชิงรับ ซึ่งเป็นความเดือดร้อนรายกรณี และเชิงรุกซึ่งมุ่งเน้นที่จะแก้ไขความเดือดร้อนทั้งระบบที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างหรือเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยการเสริมสร้างการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน และได้รับความร่วมมือ การสนับสนุนจากบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ด้วยความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
จากการดำเนินงานกว่า 25 ปี สถิติเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2543 จนถึงปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2568) ผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนแล้วเสร็จรวม 61,725 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 95.53 จากทั้งหมด 64,612 เรื่อง เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ 2,887 เรื่อง โดยประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการทำสำนวนการสอบสวน 2. การปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ 3.การร้องเรียนการบริหารงานการให้บริการของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ซึ่งนอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนรายกรณีที่เป็นความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมที่ส่งผลกระทบในวงกว้างหลากหลายกรณี ทั้งในด้านการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน อาทิ การแก้ไขปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีกำรจัดเก็บภาษี คู่สมรสแยกยื่นภาษีได้โดยให้สิทธิในการเลือกยื่นชำระภาษีรวมกันหรือแยกจากคู่สมรสได้, การแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องเพศ ที่ให้สิทธิภรรยาฟ้องเรียกค่าทดแทนได้เฉพาะจาก “หญิงอื่น” เท่านั้น โดยแก้ไขให้สามารถฟ้องทุกเพศได้อย่างเท่าเทียม, การแก้ไขปัญหากรณีไม่ขยายเขตจำหน่ายไฟฟ้าที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 50 ปี, โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบการศึกษา ภาคบังคับ และการแก้ไขปัญหาระบบส่งต่อผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

ในปีนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดจัดงานสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ครบรอบ 25 ปี ระหว่างวันที่ 24 – 25 เมษายน 2568 เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ ห้องวายุภักษ์ 3 – 4 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยภายในงานสัมมนาทั้ง 2 วัน ยังจัดให้มีบริการปรึกษาข้อกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดงานด้วย
วันที่ 24 เมษายน 2568 การเปิดการสัมมนาและการบรรยาย หัวข้อ “25 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน : ก้าวต่อไปในการเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม” โดย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จากนั้นเป็นเวทีแสดงข้อคิดเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และอำนาจ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และภาควิชานิติศึกษาทางสังคมประวัติศาสตร์และปรัชญาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร. ศุภสวัสดิ์ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ดร. ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ 25 เมษายน 2568 การบรรยายพิเศษ เรื่อง “ธรรมาภิบาลกับการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน” และการเสวนา เรื่อง “ธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง : การแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม และช่วงบ่าย เป็นเวทีสัมมนานาชาติในหัวข้อ “Fostering Fairness in Society : The Ombudsman’s Role in Achieving SDG16”
ท่านสามารถรับชมการจัดประชุมได้ทาง Facebook : สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ YouTube : Ombudsman Thailand
ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้าราชการ พนักงานของรัฐ ใช้สิทธิร้องเรียนไม่เพียงเพื่อตัวท่านแต่เพื่อส่วนรวม ได้ที่ช่องทางการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) ดังนี้
– สายด่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน โทร 1676 (โทรฟรีทั่วประเทศ)
– ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน www.ombudsman.go.th
– ร้องเรียนผ่าน Application “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”
– ร้องเรียนทางไปรษณีย์