อุตสาหกรรมหนังไทยปักหมุดกลางเวทีโลก! DITP ยกทัพผู้ประกอบการไทยสู่ Marché du Film – Cannes Film Festival 2025
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้นำผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และบริการเกี่ยวเนื่องของไทย เข้าร่วมงาน Marché du Film ภายใต้ Thailand Pavilion ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (Cannes Film Festival 2025) ระหว่างวันที่ 13 – 21 พฤษภาคม 2568 ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส การเข้าร่วมงานในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และบริการเกี่ยวเนื่อง ผ่านการสร้างเครือข่ายกับคู่ค้าในระดับนานาชาติ การเจรจาการค้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ ความพร้อม และศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
สำหรับปีนี้ มีผู้ประกอบการไทยจำนวน 12 บริษัท เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาการค้า แบ่งเป็น
บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ (8 บริษัท)
1. บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด
2. บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด
3. บริษัท ไนท์ เอดจ์ พิคเจอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
4. บริษัท ปลา บลา บลา จำกัด
5. บริษัท ฟิล์ม เฟรม โปรดักชั่นส์ จำกัด
6. บริษัท โมโน สตรีมมิ่ง จำกัด
7. บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
8. บริษัท เอ็ม ดิสทริบิวชั่น จำกัด
บริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ (1 บริษัท)
9. บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด
บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรายการและละครโทรทัศน์ (3 บริษัท)
10. บริษัท ที่ฟ้า สตูดิโอส์ จำกัด
11. บริษัท วากะ ครีเอทีฟ จำกัด
12. บริษัท ไอดอลแฟคทอรี่ จำกัด
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปีนี้มีความโดดเด่นเป็นพิเศษอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการรวมพลังของหลายหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชันร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างรอบด้าน ทั้งเชิงธุรกิจ วัฒนธรรม และนโยบาย โดยเฉพาะในเวทีระดับโลกอย่าง Marché du Film หรือ Film Market ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ระดับโลก ที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีควบคู่กับงาน Cannes Film Festival ซึ่งถือเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้การสนับสนุนการออกบูธแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ และบริการเกี่ยวเนื่อง กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้า และการจัดงาน “Thai Night” ไฮไลท์สำคัญประจำปี เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการไทยกับนักลงทุนและพันธมิตรจากนานาชาติ โดยเชิญบุคคลสำคัญจากอุตสาหกรรมนานาชาติเข้าร่วม ปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “Thailand : Where Films Come Alive” ขณะเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดพิธีเปิดคูหา Thailand Pavilion อย่างเป็นทางการ โดยเชิญบุคคลสำคัญจากวงการภาพยนตร์ระดับโลก พร้อมจัดเวทีเสวนา Director Talk เปิดมุมมองการสร้างภาพยนตร์ไทยในตลาดโลก โดยผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ชั้นนำของไทย
นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังจัดงานแถลงข่าวมาตรการจูงใจการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย (Thailand Film Incentive) โปรโมตประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการถ่ายทำระดับโลก ทั้งด้านสถานที่ถ่ายทำ บุคลากร และระบบสนับสนุน
สำหรับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชัน ซึ่งเข้าร่วมงานเป็นปีแรก ได้จัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย อาทิ การสนับสนุนภาพยนตร์ไทยเรื่อง “A Useful Ghost” (ผีใช้ได้ค่ะ) ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมฉายในเทศกาล พร้อมเตรียมลุ้นชิงรางวัล การจัดเสวนา งาน Thailand Reception เพื่อประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย รวมถึงกิจกรรม Thai Pitch ที่นำ 3 โครงการเด่นจากไทยเข้าร่วมหาทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน สนับสนุนโปรดิวเซอร์ไทยที่มีผลงานโดดเด่นจำนวน 6 ราย ได้รับคัดเลือกเข้าร่วม Producer Network เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจบนเวทีสากล
สำหรับประเทศไทย Marché du Film จึงเป็นเวทีเชิงกลยุทธ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เสนอผลงานและขยายตลาดสู่ต่างประเทศอย่างตรงจุด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และบริการเกี่ยวเนื่องของไทย ให้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสในการประชาสัมพันธ์ศักยภาพของไทยในระดับโลก รักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายช่องทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศ และยังช่วยผลักดัน Soft Power ของไทยสู่สายตาชาวโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม