บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าร่วมแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน สร้างสมดุลระบบนิเวศ ชูกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร ให้ทุกชีวิตบนโลกอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายองค์กรที่ยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในภาวการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซีพีเอฟยกระดับความสำคัญตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ อาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป เพื่อผลิตและส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอ ร่วมดูแลสุขภาพที่ดีของโลก เพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับทุกชีวิตบนโลกอย่างยั่งยืน
“ในโอกาสวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program :UNEP )เป็นอีกวันหนึ่งที่พวกเราทุกคน ต้องตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และภัยธรรมชาติจากฝีมือมนุษย์ หันมาใส่ใจ ร่วมกันฟื้นฟูและดูแลโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ” นายวุฒิชัย กล่าว
ซีพีเอฟ มีส่วนร่วมอนุรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอดกระบวนการผลิต โดยในปี 2563 สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 26 % ของพลังงานทั้งหมด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อาทิ การใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ ซึ่งฟาร์มสุกรทั้งหมดของซีพีเอฟ ฟาร์มสุกรของเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง 96 % คอมเพล็กไก่ไข่ 7 แห่งทั่วประเทศ และโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปหนองจอก นำมูลสัตว์และน้ำเสียมาบำบัดผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย ได้ก๊าซชีวภาพที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้านำกลับมาใช้ในสถานประกอบการ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปี 2563 สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลดลง 36% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 นำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำ 42% ด้านบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 99.9% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้บรรจุอาหาร สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ ฯลฯ ซึ่งผลการดำเนินการเหล่านี้ สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาติ(Sustainable Development Goals : SDGs)
ในฐานะธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร บริษัทฯยังได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรและทางทะเลอย่างรับผิดชอบ โดยต้องมาจากแหล่งผลิตที่ชัดเจน บนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อลดและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและในทะเล
ซีพีเอฟ ยังมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยการผลิตลง 25 % ภายในปี 2568 โดยส่วนหนึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กว่า 790 รายการ ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลาดลดโลกร้อน และในปี 2563 ได้รับฉลากลดโลกร้อนเพิ่มขึ้น สำหรับอาหารไก่เนื้อ ลูกสุกร สุกรขุน และผลิตภัณฑ์เนื้อหมู สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ท่ได้รับฉลากลดโลกร้อนกว่า 1,418,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟ ได้กำหนดนโยบายการจัดการอาหารสูญเสียและขยะอาหาร ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตอาหาร การสนับสนุนการนำอาหารส่วนเกินและขยะอาหารมาหมุนเวียนใช้บนพื้นฐานมาตรฐานความปลอดภัย ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการสร้างความตระหนักและส่งเสริมด้านการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และเกษตรกร เพื่อลดการสูญเสีย และอาหารส่วนเกิน และขยะอาหาร ตามเป้าหมาย Zero Waste & Zero Food to Landfill ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573)
นอกจากนี้ ในการแก้ปัญหาและรับมือกับการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) จากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ บริษัทฯ ได้สานต่อการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี จำนวน 5,971 ไร่ โครงการซีพีเอฟ ปลูกปันป้องป่าชายเลน อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด รวม 2,388 ไร่ และ โครงการรักษ์นิเวศ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วประเทศ 1,720 ไร่ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 โครงการเข้าสู่การดำเนินการในระยะที่สองแล้ว