กรมชลฯติดตามความคืบหน้าอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ แก้ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง-ป้องน้ำท่วมให้ชาวสุราษฎร์ธานี
กรมชลประทานจัดสื่อสัญจร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากกระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น คาดสร้างแล้วเสร็จมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 8,450 ไร่ และประชาชน 1,958 ครัวเรือน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ขยายการใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรและหนุนด้านท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชล ประทาน พร้อมคณะผู้บริหาร จัดกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อติดตามความคืบหน้า โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากกระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูล รวมถึงได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกฯ เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานานและในฤดูแล้ง และเพื่อบรรเทาความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วม ผู้นำชุมชนตำบลคลองชะอุ่น จึงได้มีหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาแรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะศึกษาครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ทั้งกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ที่ประกอบด้วยการศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นทั้งระยะก่อสร้างและระยะการดำเนินการ รวมทั้งการเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การออกแบบการก่อสร้างต่อไป
“ โครงการดังกล่าว พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระชุม ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่าโซน ซี) หน่วยงานของรัฐต้องเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 เมษายน 2554 รวมทั้งการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาจึงมุ่งเน้นให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการยอมรับ”
ทั้งนี้ในส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบชุมชนนั้นได้ วางแผนการแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าผลกระทบเรื่องป่า เรื่องสัตว์ป่าที่หายไป มีค่าชดเชยที่ดิน ที่ดินที่น้ำท่วม ให้ค่าตอบแทน ชาวบ้าน โดยมีผู้ว่าราชการเป็นประธานคณะกรรมการในการดูแลด้านผลกระทบต่างๆ ในเรื่องแนวทางว่ากำหนดราคา กำหนด กฏเกณฑ์ต่างๆ และมีนายอำเภอพนมดูแลในพื้นที่สำรวจชัดเจน กรมชลประทานจัดเตรียมงบประมาณเพื่อจ่ายให้ในค่าชดเชยต่างๆ
สำหรับการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ ที่ตั้งหัวงานโครงการ ระดับเก็บกัก รูปแบบเขื่อน และระบบส่งน้ำชลประทานที่เหมาะสม สามารถสรุปลักษณะโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่หัวงานตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านบางเตย ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเภทโครงการ อ่างเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์โดยระบบท่อส่งน้ำและส่งลงลำน้ำเดิม เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุเก็บกักประมาณ 3.82 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงเขื่อนประมาณ 23 เมตร ความยาวเขื่อนประมาณ 160 เมตร พื้นที่เก็บกัก 480 ไร่
“การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 450 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง จะอยู่ช่วงระหว่างปี2566-2568 มีการส่งน้ำผ่านท่อคุ้มค่าการลงทุนให้เกษตรกรบนพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ส่งผลดีต่อชาวไร่ นา ปาล์ม ยาง สวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุด และอื่นๆ ทำให้ขายสินค้าเกษตรมีรายได้เพิ่ม ซึ่งตามหลักชาวบ้านในพื้นที่ต้องการใช้น้ำราว 8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีและคาดว่สจะเพิ่มเป็น 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีใน20ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ยังมีการสร้างฝายเก็บน้ำเพิ่มอีก 3 จุด โดยจะเริ่มสร้างฝายแรกได้ในปี 2566 และสร้างต่อตามแผนต่อเนื่อง อีกทั้งจะมีการสร้างถนนรอบขอบอ่างกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นการความคุ้มค่าให้เกษตรกรและชาวบ้านที่อยู่อาศัย คุ้มค่าในการขนส่งพืชไร่พืชสวน การคมนาคมชาวบ้านสะดวกขึ้น “
เมื่อโครงการพัฒนาแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น จากอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ทั้งหมด 3 หมู่บ้านในตำบลคลองชะอุ่น ได้แก่ บ้านแสนสุข บ้านบางเตย และบ้านทับคริตส์ รวมพื้นที่ 4,300 ไร่ จำนวน 996 ครัวเรือน และจากฝายในลำน้ำอีก 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบ้านตาวรรณ์ ฝายบ้านแสนสุข และฝายถ้ำลอด รวมพื้นที่รับประโยชน์ 4,150 ไร่ และ 962 ครัวเรือน
โครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มศักยภาพพื้นที่ชุมชนคลองชะอุ่นและตำบลต้นยวน ในการพัฒนาด้านอื่น ๆที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด และทำประมงพื้นบ้าน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ สู่ท้องถิ่นและจังหวัดสุราษฎ์ธานี
ด้านนายวิจารณ์ จุนทวิจิตร นายอำเภอพนม จังหวัดสุราษฏร์ธานี ลงพื้นที่ต้อนรับนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในโครงการสื่อสัญจร โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บริเวณพื้นที่ ม.7 ต.คลองชะอุ่น (จุดสร้างบริเวณสันเขื่อน)โดยมีผู้นำท้องที่และท้องถิ่นเข้าร่วม
และได้ร่วมเดินทางไปยังจุดสร้างฝายตาวรรณ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องและอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ม.3 ต.คลองชะอุ่นตามลำดับ โดยนายอำเภอพนม ได้เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของน้ำต่อการทำการเกษตรในพื้นที่รวมทั้งการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ถึงรายละเอียดที่ชัดเจนจากการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านผู้นำชุมชน/ผู้นำท้องที่ที่เกี่ยวข้อง
“ ชาวอำเภอพนมส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ สวนทุเรียน สวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้น้ำ ถึงพื้นที่จะมีฝนตกมากแต่น้ำไหลลงสู่ทะเลเร็ว ถ้ามีอ่างเก็บน้ำก็จะส่งผลดีลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำช่วยส่งเสริมการทำเกษตรกรรม ผลประโยชน์ด้านอื่นๆจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับอุทยานแห่งชาติเขาศก, เชื่อนเชี่ยวหลาน ถ้ามีอ่างเก็บน้ำที่อำเภอพนม มีถนนสันเขื่อนที่สวยงาม ก็จะเชื่อมโยงดึงนักท่องเที่ยวมาอีกจุดหนึ่ง ”
นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประธานขนาดกลางที่ 15 เปิดเผยว่า การก่อสร้างตัวอ่างเก็บน้ำเป็นพื้นที่ 600 กว่าไร่ แยกที่ดินเป็น 2 ส่วน เป็นป่าสงวนพื้นที่อนุรักษ์ป่าเขต 4 จำนวน 300 กว่าไร่ ส.ป.ก. 300 กว่าไร่ โดยอ่างเก็บน้ำครองสีสุก จะช่วยขยายช่องทางการทำเกษตรให้กับเกษตรกร จากเดิมที่ทำสวนปาล์มเป็นหลัก ต่อไปเมื่อมีน้ำเพียงพอ จะมีการขยายการเพาะปลูกสวนผลไม้เพิ่มขึ้น รายได้จากการขายผลไม้เยอะกว่า จากเดิมมีปัญหาเรื่องการควบคุมปริมาณใช้น้ำได้ เมื่อมีอ่างเก็บน้ำจะมีการควบคุมการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรได้ มีการวางท่อทุก 13กิโลเมตร มีการจ่ายน้ำเข้าแปลง ใช้น้ำจะประหยัดมากขึ้น เป็นการเพิ่มความหลากหลายในการทำสวนเกษตรมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเปิดระบบแปลงนาที่ดึงน้ำเข้าไปใช้
นอกจากการใช้น้ำเพื่อการเกษตรเป็นหลักแล้ว ยังได้ประโยชน์เพิ่มเติมในเรื่องการท่องเที่ยว เพราะจะที่สร้างอ่างเก็บน้ำจะใกล้แหล่งท่องเที่ยวคือ เขื่อนเชี่ยวหลาน วัดบางโทง และถนนเส้นผ่านจุดที่อ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ จะเป็นเส้นหลักผ่านแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวแวะเที่ยวจุดนี้เช่นกันและจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้