กรมควบคุมโรค ร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก แนะใช้ใจเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ ดูแลรักษา ลดปัจจัยเสี่ยง ป้องกันตนเองและเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 ก.ย. 2564 ตามคำขวัญ สหพันธ์หัวใจโลก (The World Heart Federation) คือ USE HEART TO CONNECT: ใช้ใจเชื่อมต่อ แนะผู้ป่วยโรคหัวใจใช้เทคโนโลยีในการดูแลรักษา ลดปัจจัยเสี่ยง พบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกและประเทศไทยซึ่งมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มากถึง 6 หมื่นรายเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย แนะผู้ป่วยป้องกันตนเองและเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19
วันนี้ (29 ก.ย. 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วันที่ 29 กันยายน ทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน ที่บริเวณผนังด้านใน ของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะอ้วน โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงความเสี่ยงจะสูงขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับ ความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดตามคำขวัญรณรงค์วันหัวใจโลก คือ ใช้ใจเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ แนะนำให้ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 3 ประการ คือ 1.ใช้ใจสร้างความเท่าเทียม (EQUITY) 2.ใช้ใจในการป้องกัน (PREVENTION) 3.ใช้ใจร่วมกับสังคมและชุมชน (COMMUNITY) กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลาอย่างรวดเร็ว ประการแรก สร้างความเท่าเทียม(EQUITY) ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศให้การป้องกัน วินิจฉัย ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ในทุกกลุ่มแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ประการที่สอง ใช้ใจในการป้องกัน (PREVENTION) โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้แอปพลิเคชันสุขภาพต่างๆ เช่น อสม.ออนไลน์ คัดกรองโรคไม่ติดต่อออนไลน์ ใช้ Smart Watch สร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพและกระตุ้นให้ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอผ่าน Mobile Application ประการที่สาม ใช้ใจร่วมกับสังคมและชุมชน (COMMUNITY) ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อแพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัว ญาติ สังคมและชุมชน ผ่านโครงการ 3 หมอ หมอครอบครัว หมอสาธารณสุข หมอประจำบ้าน เพื่อครอบคลุมการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง ลดปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่สามารถมาพบแพทย์ตามนัดหมาย ยังสามารถรับบริการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Website, Telemedicine, Line Chat รวมถึงการลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วยแอปพลิเคชันหมอพร้อม
ทางด้านนายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้บูรณาการพัฒนาคลินิกโรคไม่ติดต่อของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศที่มีจำนวน 898 แห่งร่วมกับกรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ทั้งทางกายและจิตใจเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจ คัดกรองเพื่อให้รู้ปัญหาสุขภาพโดยเร็ว
โรคหัวใจเป็น 1 ใน 7 โรคไม่ติดต่อ หากเกิดการติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้หัวใจเต้นเร็วจนเสี่ยงเกิดเยื่อบุหลอดเลือด อักเสบ หรือมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้นจากระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง ถ้าติดเชื้ออย่างรุนแรงทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแย่ลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวได้และอาการที่รุนแรงจำเป็นต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีระยะเวลานอนโรงพยาบาลมากขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 20% ดังนั้น ผู้ป่วยควรระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เน้นควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดปัจจัยเสี่ยง ปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เลิกสูบบุหรี่ หรือเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่และลด ละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หรือมีอาการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และที่สำคัญควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ
การเตรียมความพร้อมของกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ 1.ให้แพทย์ประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนได้รับการฉีดวัคซีน 2.ควรรับการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการสังเกตอาการหรือภาวะไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีน 3.ภายหลังการฉีดวัคซีน 7 วัน หากพบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อย หรือใจสั่น ควรรีบพบแพทย์ สามารถขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมทางสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค