“มทร.ธัญบุรี” ชู “ผ้าไทย…รักษ์โลก..ใส่ได้ทุกวัน ทุกวัย” ผ้าทอจากเส้นใยกล้วย ผลงาน “รางวัลแห่งเกียรติยศ Platinum Award” งาน “Thailand Research Expo 2021”
เป็นประจำทุกปีที่ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” หรือ “Thailand Research Expo” ขึ้น สำหรับปีนี้มีการจัดงานเป็นครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์หลัก “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และเพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรม ประชาชนนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมได้ภายใต้มาตรการปลอดภัยตามกระทรวงสาธารณสุข
ภายในงานมีนิทรรศการผลงานวิจัย นวัตกรรมมากกว่า 500 ผลงาน จากกว่า 100 หน่วยงานมาโชว์ นับว่า น่าตื่นตาตื่นใจ ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ อีกทั้งยังจะเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชมงานเพื่อไปศึกษาวิจัยต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ หรือนำไปเป็นพื้นฐานการสร้างงาน สร้างอาชีพได้
สำหรับนิทรรศการที่น่าสนใจและอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าชมงาน ได้เห็นว่า งานวิจัยนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะผู้ชอบทานกล้วย หรือผู้มีสวนกล้วยอยู่ต้องห้ามพลาด ไปชมกันว่า กล้วยมีอะไรดี ๆ กว่าที่คุณคิด เดินไปชมที่ส่วนของ นิทรรศการ “รางวัลแห่งเกียรติยศ Platinum Award” ได้เลย ซึ่งมีการจัดแสดงผลงานของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงธัญบุรี ที่ รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติปี 2563 ด้วยเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจ BCG
ปีล่าสุดนี้คณะนักวิจัยมาร่วมงาน พร้อมชูคอนเซ็ปต์ “ผ้าไทย…รักษ์โลก..ใส่ได้ทุกวัน ทุกวัย” จัดแสดงเส้นใย ผ้าทอและเครื่องแต่งกายที่ทำจากเส้นใยและผ้าทอจากเส้นใยกล้วย ภายใต้งานวิจัย “การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ(ผ้าใยกล้วยบัวหลวง)”
ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)หัวหน้าโครงการ “การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ(ผ้าใยกล้วยบัวหลวง)” เปิดเผยว่า การศึกษาเส้นใยจากกล้วยเริ่มขึ้นในปี 2561 ด้วยทุนสนับสนุนวิจัยของทางมหาวิทยาลัยฯ โดยมีการศึกษาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เน้นที่กล้วยเนื่องจากจังหวัดปทุมธานีเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฯ และมีกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการส่งออกมากที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ในการปลูกกล้วยประมาณ 30,000 ไร่ อีกทั้งยังสอดคล้องกับโจทย์และนโยบายของจังหวัดปทุมธานี จึงได้ร่วมมือกับบริษัทวัน บานาน่า จำกัดและกลุ่มคลัสเตอร์กล้วยคลอง 7 ส่งวัตถุดิบที่เป็นเศษต้นกล้วยที่เหลือทิ้งจากการเก็บผลผลิตและส่งออกมาให้
จากนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยนำส่วนกาบกล้วยปั่นได้เป็นเส้นใย และพบว่า มีคุณสมบัติที่น่าสนใจ คือ ระบายความร้อนได้ดี ทดสอบพบมีความแข็งแรงสูงและมีความเงามันคล้ายเส้นใยไหม นอกจากนี้ยังศึกษาเปรียบเทียบต้นกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมตั้งแต่ชั้นกาบด้านนอก ชั้นกลางและชั้นในสุดด้วย ซึ่งพบว่า เส้นใยกล้วยน้ำว้ามีขนาดเล็กกว่าและแข็งแรงกว่า และเส้นใยที่สวยและเงาที่สุดเป็นกาบชั้นใน
“จากเหตุดังกล่าว จึงเลือกใช้กาบกล้วยน้ำว้าเป็นส่วนใหญ่ นำมาปั่นแยกเส้นใย ทำเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผืนผ้า โดยปริมาณต้นกล้วยที่ใช้ทำเส้นใย คิดจาก ผ้า 1 หลาใช้ต้นกล้วยประมาณ 20 ต้น เสื้อ 1 ตัวใช้ผ้าประมาณ 2 หลา เท่ากับใช้กล้วยประมาณ 40 ต้น ส่วนเทคนิคที่ทำให้ได้ผ้ามีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่มจากเส้นใยที่แข็งกระด้าง ทำโดยการนำเส้นใยที่ได้จากการปั่นแยกในกระบวนการเชิงกลที่ไม่ใช้สารเคมี มาล้างให้สะอาดและหมักแช่น้ำสะอาดเท่านั้นเป็นเวลา 10 วัน ไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ต.กระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่มีสมาชิกประมาณ 30 คน”
ต่อมาในปี 2562 ได้มีการพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา จนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีและพัฒนาชุมชนจังหวัดปทุมธานีให้ความสนใจ โดยพัฒนาชุมชนได้ให้งบประมาณสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาแก่กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ปั่นด้าย ทอผ้า เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีพัฒนาเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีลวดลายเด่น ๆ อาทิ ลายกาบกล้วย ลายใบตองที่ขายดีและมีการย้อมสีธรรมชาติจากใบบัว ก้านบัว ที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดและหาได้ง่าย จนทำให้กลุ่มผ้าทอมือใยกล้วย มีชื่อเป็นที่รู้จักว่าเป็นกลุ่มผ้าทอใยกล้วย
กระทั่งในปี 2563 ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงให้ชื่อว่า “ผ้าใยกล้วยบัวหลวง” และตั้งให้เป็นผ้าประจำจังหวัดของจังหวัดปทุมธานี
ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน นี้มุ่งเน้นว่าเป็น BCG กลุ่มรักษ์โลก ที่มีกระบวนการผลิตแบบไร้ของเสีย เอาวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า สร้างงานสร้างอาชีพ และได้กลายเป็นผู้นำในเครือข่ายบ้านทอมือของประเทศไทยไปแล้ว มีหลายกลุ่มให้ความสนใจมาเรียนรู้ อีกทั้งทำให้ในปี 2563 ได้รับรางวัล Platinum Award จากมหกรรมวิจัยแห่งชาติปี 2563 และล่าสุด ปี 2564 ยังคว้ารางวัลเลิศรัตน์ ได้รับจากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนแบบมีส่วนร่วม ระดับดี
นับว่าเป็นงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ เห็นผลจริง นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่า การนำไปใช้เป็นปุ๋ยบนดินแบบเดิม ๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นวัสดุ ผลิตภัณฑ์มีค่า เป็นผ้าทอที่ดูแลรักษาง่ายไม่แตกต่างจากผ้าฝ้ายและเส้นใยธรรมชาติทั่วไป แถมยังได้ราคาที่ดี โดยผ้าทอใยกล้วยมีสนนราคาเริ่มต้นที่ 900 บาท/เมตร สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อสูทสวยงามราคาสูงถึง 5,000 บาทได้ สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชมหรือสั่งตัดได้ที่โชว์รูมของกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน
ผศ.ดร.สาครกล่าวต่อว่า ขณะนี้ทีมงานอยู่ระหว่างคิดค้นพัฒนาลวดลายผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี โดยจะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น การผสมผสานเทคนิคมอญ ดอกบัวที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัด อีกทั้งจะมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเทคนิค เพิ่มลวดลาย
นอกจากนี้ในอนาคตงานที่ทำจะเน้นให้เกิดความยั่งยืน สร้างเอกลักษณ์อัตลักษณ์ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเส้นใยอื่น ๆ ให้แก่กลุ่มอื่นๆ ต่อไป เพื่อไม่ให้แข่งขันกัน เช่น เส้นใยผักตบชวา (วช.ให้งบสนับสนุนในปี 2560 ที่ทำให้กลุ่มภาชี) เส้นใยสับปะรด และเส้นใยอื่น ๆ โดยทำงานร่วมกันกับทางเครือข่ายมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เนื่องจากการทำงานใด ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถทำได้เพียงลำพังหรือเพียงหน่วยงานเดียวได้ ต้องมีการบูรณาการ ร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้กัน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.สาคร ได้ฝากทิ้งท้ายถึงผู้ทำการโดยทั่วไปว่า “การวิจัยพัฒนาเป็นการทำงานเพื่อช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างสิ่งดี ๆ สร้างองค์ความรู้ให้กับประเทศ ขณะเดียวกันก็อยากให้มุ่งเน้นเรื่องของการรักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยในการคิดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้ใช้วัสดุธรรมชาติ
สำหรับกลุ่มที่ได้รับการยกย่องหรือเป็นผู้นำในปัจจุบัน อยากให้มีแรงบันดาลใจในการทำงาน มองไปมากกว่าการทอผ้า ก้าวต่อไปเพื่อให้ผ้าได้รับความนิยม มีหลักการคิด แบ่งงานกันทำ เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อให้กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับกลุ่มทอผ้าอื่น ๆ ต่อไป”
เป็นอีกผลงานดี ๆ ที่ไม่ควรพลาด ไปชมกันว่า ผลงานรางวัล Platinum Award มีดีอย่างไร และพบกับผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย ที่งาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2564” หรือ “Thailand Research Expo 2021” ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์