วช.ถอดรหัสการจัดสรรงบวิจัยเร่งด่วนกับเบื้องหลังทัพหน้า “วิจัยคุมโควิด” งานThailand Research Expo 2021

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องเวิลด์บอลรูมชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ในภาคเช้าได้มีการจัดเวทีเสวนา “เรื่องการถอดรหัสการจัดสรรงบวิจัยเร่งด่วนกับเบื้องหลังทัพหน้า “วิจัยคุมโควิด” ฉายภาพรวมการแก้ไขปัญหาของประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเวลากว่า 2 ปี ประเทศไทยสามารถรับมือทั้งที่สำเร็จและที่ยากลำบาก แต่ผ่านมาได้อย่างดี สิ่งที่อยู่เบื้องหลังนี้คือ การวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

    ศาสตราจารย์กิตติคุณ  นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (กสว.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้เห็นภาพว่า มีความจำเป็นที่จะต้องจัดรูปแบบการบริหารจัดการงานวิจัยใหม่ โดยใช้สถานการณ์ที่มีอยู่และโจทย์จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีเป้าหมายเดียวกันร่วมมือกันและส่งต่อผู้ใช้งานจริง พร้อมรับฟังโจทย์ของผู้ใช้เพื่อให้การแก้ปัญหาของประเทศได้จริง นอกจากนี้ไทยถือว่าก้าวมาถูกทางแล้วที่รวบรวมงบประมาณวิจัยมาอยู่ในกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ในการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ทำให้สามารถตัดสินใจจัดสรรงบประมาณวิจัยในสถานการณ์ฉุกเฉินได้

ทั้งนี้โควิด-19 เป็นโรคใหม่ จึงต้องเรียนรู้จากโรค และต้องรวบรวมสรรพกำลังเพื่อต่อสู้กับโรค โดยในการวิจัยจะต้องมี 1.ต้องมีเป้าหมายที่ตรงกัน หน่วยงานวิจัยต่างๆของประเทศที่มีอยู่ ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในการระบาดของไข้หวัดนกในอดีต มีการจัดลำดับเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในการพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เครื่องตรวจวินิจฉัย เครื่องช่วยหายใจ พัฒนายา วัคซีนและการจัดระบบดูแลสุขภาพ 2.มีผู้คุมนโยบาย ได้แก่ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สอวช.) ที่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน แบ่งงาน กระจายงาน เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ เกิดการร่วมมือกัน ​ 3.การจัดสรรงบประมาณ เป็นหน้าที่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)​ เป็นงบวิจัยเร่งด่วนที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น ผลดีจากการปฏิรูปงบประมาณวิจัยเมื่อ2ปีที่มีวช.ดูแลงบวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ “ผมอยากตั้งคำถามว่าสิ่งที่ผมพูดไปเรื่องการถอดรหัส” ผมว่ากระทรวงต้องมีการพัฒนาผลผลิตแบบใหม่ ที่เกิดจากผลงานวิจัยเพื่อรับใช้สังคมและปัญหาของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำ รวมทั้งต้องมีการเขียนเป็นหลักวิชาการด้วย ตนเห็นและเสียดายว่าในช่วง 2 ปีมีการวิจัยในเรื่องโควิดจำนวนมาก และมีการตีพิมพ์ เราต้องถือโอกาสตรงนี้ และถ้าใครที่รับทุนวิจัยแล้วส่งแต่ละงานวิจัยอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีการรายงานผลต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 5 ปีว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เหตุผลการทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานของเราค่อนข้างเป็นปัญหาอยู่ หลายอย่างเรายังไม่สามารถที่จะทำให้กระบวนการมีความชัดเจน เพราะจากประกาศที่ออกมายังไม่เสถียร เวลาให้คำตอบสู่นโยบายพร้อมที่จะทบทวน ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นมันใช่หรือไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และเราคงจะต้องรับสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นข้อเตือนใจอยู่ตลอดเวลา

    ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวว่า วช.เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในชุดบริหารจัดการช่วยคลี่คลายสถานการณ์โควิด การระบาดในช่วงปี2563 ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการวช.ในขณะนั้น ได้ปรับแผนงบประมาณเพื่อรองรับการบริหารจัดการเรื่องโควิด-19 ที่ใช้วิจัยและนวัตกรรมมาทำงานร่วมกับภาคด่านหน้า

การวิจัยช่วงปี 2563และ2564 จึงมีความแตกต่างในแต่ละช่วงเวลา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้เวชภัณฑ์ ใช้ชุดข้อมูล ใช้อุปกรณ์ รวมถึงการติดตามสถานการณ์การได้รับวัคซีน กรอบงานเรื่องพันธุกรรมของเชื้อโควิด กระบวนการส่งเสริมวัคซีน การคัดกรอง เหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเร่งรัดทำงานเพื่อให้ได้ชุดข้อมูล  ต่อมาช่วงปลาย 2563ที่สถานการณ์คลี่คลายระยะหนึ่งได้มีความพยายามที่จะช่วยคลี่คลายทางด้านเศรษฐกิจสังคมและเริ่มมีเวชภัณฑ์อุปกรณ์ที่ส่งเสริมการพัฒนาในช่วงแรกออกมาและวช.ได้รับโอกาสมีส่วนร่วมทำงานกับทางศบค. ปี 2564 เห็นภาพการระบาดเป็นภาพใหญ่  วช.ได้มีการส่งมอบผลงานอุปกรณ์การแพทย์เพื่อให้เกิดการใช้งานแก่ทางด่านหน้า มีผลงานจากการวิจัยเกิดขึ้น เห็นชุดข้อมูลเกิดขึ้น ในการกำหนดการวิจัยนวัตกรรมในช่วงนี้  ได้รับกรอบงบประมาณเพื่อการวิจัยผ่านระบบกองทุนมาที่วช.และมีการกำหนดแผนสนับสนุนการวิจัยเรื่องโควิดเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวมองภาพการต่อยอดขยายผลในมิติสาธารณสุข  โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญมีเรื่องการกลายพันธุ์ไวรัส  การสนับสนุนเรื่องวัคซีน ก่อนขยายประเด็นมากขึ้นเป็นการรับมืออย่างเป็นระบบโดยใช้งานวิจัยสนับสนุนรวมถึงประเด็นด้านสังคมและเศรษฐกิจมุ่งตอบสนองต่อการใช้งานเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ในระยะยาวมีเรื่องของการพัฒนายา วัคซีนชนิดอื่น ๆ ซึ่งวช.สนับสนุนสถาบันวัคซีนเพื่อพัฒนาวัคซีน

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยปี 2563 มีการใช้งบประมาณมากกว่า  800 ล้านบาท วช.มีสัดส่วนอยู่ 20%  ส่วนในปี 2564 ใช้งบประมาณ 1,200 ล้าน เป็นส่วนของวช.ประมาณ 24% มีการวิจัย 2 ปีรวม 402 โครงการ โดยในปี 2564 มีการวิจัยเกิดขึ้นเพิ่มมากประมาณ 300 โครงการ

  วช.ได้รับมอบหมายงานในระดับแผนของประเทศมาสู่หน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม และอยากให้ผู้ที่อยู่ในขอบข่ายงานไม่ว่าเป็นเรื่อง โควิด-19 หรือประเด็นที่คาดว่าจะเกิดในภาวะเร่งด่วน วช.จะมีกลไกพร้อมรับมือ ในเรื่องของงบประมาณ เพื่อให้เกิดแผนงานและนักวิจัย มีการทำงานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เห็นผลสำเร็จที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานระดับประเทศต่อไป และจากที่ได้ร่วมเสวนากัน สิ่งหนึ่งที่เห็นและสำคัญคือ เดิมอาจมีความคุ้นเคยการทำงานที่เป็นช่วงเวลา ในการขอรับการสนับสนุนในเชิงทุน แต่ในบางกลไกมีการขยับขึ้นไปให้สูงขึ้นมีการตั้งโจทย์ Demand Side สนับสนุนแผนงานรวดเร็วขึ้น และไม่ให้ติดขัดในแผนงานเวลาอีกต่อไป หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค หรือ ศิริราช ซึ่งหลายโครงการไม่ได้มีการพูดถึงในเชิงแผนงาน แต่จะพูดถึงการบริหารประเด็นเชิงเร่งด่วน วช.พยายามตอบรับในการทำงานให้เกิดขึ้นรวดเร็ว และถ้าจุดนี้เป็นการถอดรหัสจาก ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร ก็ขอน้อมรับทำงาน เพื่อลดข้อกังวล

    นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ประเด็นวันนี้ทุกคนได้เรียนรู้หลายอย่างด้วยกันและมีการเรียนรู้เพิ่มเติมหลายเรื่อง ส่วนเรื่อง “โควิด-19” ที่เราเผชิญกันมาเป็นการเรียนรู้จากการทำงานที่เราได้ใช้เรียนรู้ร่วมกันมาในเรื่องการวิจัยมาสู่การปฏิบัติ คงอยู่ที่รหัสที่สำคัญ คือ “การมีเป้าหมายร่วม” ถ้าทุกคนมีเป้าหมายร่วมไปสู่ที่เดียวกันและนำมาด้วยการปรับแนวคิดที่เราทำงานในยุคใหม่ ไม่มีตัวตน หรือนิวแพลตฟอร์ม ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำไม่ได้อยู่ในกระดาษอย่างเดียว ถ้าเราร่วมทำงานแบบนี้ประสบการณ์ โควิด จะทำให้เราได้ก้าวไปสู่ สมาร์ทลิฟวิ่ง หรือการร่วมกันแบบอัจฉริยะแบบโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์แบบไหน  ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ๆ หรือ ยาใหม่ๆ เราทำงานด้วยเป้าหมายร่วมและมีความสุขร่วมกัน ข้อจำกัดคนที่นำผลงานวิจัยไปแชร์เพื่อทำงานในส่วนปฏิบัติการ เราทำข้อเสนอไปสู่นโยบายมักจะเขียนผลงานวิจัยน้อยกว่า 20 เรื่อง ถ้าเป็นภาพในหน่วยงานเอง แต่ถ้าทำร่วมกับหน่วยงานอื่นก็มี ซึ่งการใช้งานอาจจะยังไม่ไปสู่สาธารณะเท่าไร แต่มันจะเป็นเรื่องของการเสนอเชิงนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงมากโดยเฉพาะในเรื่องการนำเสนอเชิงนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ รวดเร็ว

    ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า ตนอยากบอกว่างานวิจัยมันอยู่กับเราตลอด ไม่ว่าวันนี้หรือต่อไป ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือเปลี่ยนแปลง งานวิจัยเป็นส่วนที่ช่วยให้เราตัดสินใจไปทางที่ถูกและอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครั้งที่มีการระบาดทำให้เห็นถึงความร่วมมือ และเห็นระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ถ้าระบบสนับสนุนงานวิจัยดี นักวิจัยอยากทำ และมีการตอบสนอง ผลงานวิจัยมันจะไปเร็ว และอยากบอก กับ ดร.วิภารัตน์ว่าอดีตการทำวิจัยเราต้องของบประมาณล่วงหน้าถึง 2 ปี ซึ่งล่าช้าและทำให้นักวิจัยไม่อยากทำ พอตอนนี้มีปัญหาที่ใหญ่ และนักวิจัยอยากทำ มีการตอบสนองเรื่องงบประมาณ การเก็บข้อมูลต่างๆทุกอย่างมันจะเร็วหมด ส่วนที่ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร พูดถึงเรื่องข้อมูลวิชาการที่จะเผยแพร่สู่ประชาชน อยากให้ช่วยมีการปรับภาษาจากวิชาการเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เรารับหมดทุกโครงการที่เป็นงานวิชาการเกี่ยวข้อง อีกทั้งกรมการแพทย์ยังมีข้อมูลวิจัยทีจะกลั่นกรองสกัดออกมาให้อยุ่ในพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งต้องดูเรื่องการประเมินว่าข้อมูลที่ได้มาดีมากน้อยแค่ไหน

    ด้านนพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เราทำวิจัยในประเทศไทยควรทำอะไร การแก้ปัญหา โควิด ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นปัญหาของโลก เราจะไปทำแข่งขันการแก้ปัญหาของโลกมันไม่ทัน ไม่มีศักยภาพ และก็ไม่ควร  แต่ควรมองเรื่องส่วนที่เราต้องทำโลคอล คอนเทนต์  ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องทำ มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.ตรงไปตรงมา และเรื่องระบาดวิทยาต้องเป็นของใครของมัน บ้านใครบ้านมัน ใครระบาดอย่างไร เชื้อเป็นอย่างไร  2. ข้อจำกัดของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรว่าเรามียา มีวัคซีนแค่ไหน ที่ผ่านมาโจทย์จะเห็นชัด เราไม่มีวัคซีน,วัคซีนไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องใช้ระบบแบบ วัคซีนไขว้ไปไขว้มา ซึ่งขยายความในเรื่องสูตรวัคซีนไขว้ คนก็งง ตนอยากขยายในเรื่องของฝั่งวิจัยในห้องปฏิบัติการเรื่องวัคซีนไขว้และมีการบูทวัคซีนต่อ ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าจะให้วัคซีนป้องกันโควิด ที่ดีมีภูมิคุ้มกันสูงต้องเป็นแบบ เบาแล้วไปแรงดีที่สุด มันเป็นการบอกร่างกายว่าต้องฉีดวัคซีนซ้ำไปอีกครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน

“การที่โจทย์ของเราเป็นโลคอล คอนเทนต์ คือการใช้วัคซีนและยาฟาวิพิราเวียร์มหาศาล ซึ่งเรายังไม่มีการทำวิจัย หรือ ชาวโลกยังไม่ยอมรับ เรายอมรับกันเอง และผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่เราต้องรีบทำวิจัย”

    นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า เรื่องการนำผลวิจัยไปใช้งาน แต่ก็มีบางเรื่องที่เราทำกันแล้วยังไม่มีข้อมูลเป็นผลสรุป ถ้ามีการตีพิมพ์แล้วนำไปใช้ก็ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น แต่มีหลายเรื่องที่ยังคาใจ ที่บอกว่าอัตราการตายต่ำ หมอหลายคนบอกว่าเป็นเพราะเราใช้ยา ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หรือวัคซีน ยังไม่มีข้อสรุปออกมาชัดเจนหรือเป็นระบบ ทำให้เกิดความสับสนและงงๆ แต่ถ้ามันมีการมานั่งคุยกันจากหลายฝ่าย ถ้ามีการสร้างแพลตฟอร์มรองรับ ถ้าทุกคนช่วยกันดูและแชร์ความคิดร่วมกันจะเป็นผลที่ดีมาก ยังมีหลายคำตอบที่ต้องทำให้ชัดเจนว่าการลงตามวิจัยที่มีการตีพิมพ์แล้วมันชัดเจนจริงหรือไม่ ซึ่งโจทย์ของเราต้องพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับนานาชาติต่อไป

    ซึ่งในวงเสวนานี้มีผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการวิจัยด้านนี้เข้าฟังจำนวนมาก โดยที่ประชุมจากผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้สอบถามบนเวทีเสวนาว่า เราโชคดีที่มีทัพหน้าและทัพหลังในการที่จะหลุดพ้น แต่ก็ยังมีบทเรียนและเรียนรู้ต่างๆที่ไม่ทราบว่าจะสามารถการันตีได้หรือไม่ และดีใจว่าเรื่องข้อมูลวิจัยนั้นมีความสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจระบบสังคมของประเทศ

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.