เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนาเรื่อง “พลัง อว.ส่วนหน้า : มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ ถาวรจักร์ ประธานที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ร่วมเวทีเสวนา ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ที่มาของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือ โครงการ U2T เกิดขึ้นในปี 2563 โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หรือ อว. ส่วนหน้า เป็นตัวแทนของกระทรวง อว. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัด ดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่จะเป็นข้อต่อสำคัญเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการบูรณาการโครงการ การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน การจ้างงานนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามปัญหาและความต้องการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการจ้างงาน 60,000 คน ใน 3,000 ตำบล ทั้งนี้มี 67 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า การใช้ระบบ PMAP หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการมุ่งเน้นให้สามารถครอบคลุมปัญหาโดยพิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเงิน ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ ทั้งนี้ ยังมุ่งเน้นที่การพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมือง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พื้นที่เกษตร โดยมีการประยุกต์ใช้ SDG เปิดโอกาสให้คนในชุมนเข้าถึงการศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ ถาวรจักร์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า การดำเนินงานตามโครงการ สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลในสถานการช่วงโควิด-19 เป็นบทบาทที่สำคัญ ทำให้ มหาวิทยาลัยมีบทบาทในพื้นที่ได้อย่างมั่นคง และมีความมั่นใจ มีความเป็นหนึ่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินภารกิจให้มีความชัดเจนและยั่งยืนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างหน่วงานภาครัฐและเอกชนให้สามารถดำเนินการอย่าต่อเนื่องใกล้ชิด เกิดความมั่นใจ โดยเริ่มจากการทำงานในพื้นที่โดยหน่วยงานต่างๆที่มีบทบาท พูดคุยกัน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าใจ อว.ส่วนหน้า นำศักยภาพของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้สามารถพัฒนาชุมชนและพัฒนา Mind set ของอาจารย์และผู้บริหาร โดยมีการดำเนินงานในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสระบุรี จังหวัดน่าน จังหวัดยโสธร และจังหวัดปัตตานี ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยของความสำเร็จ คือ การได้พัฒนานักวิจัยเชิงสังคม มีการลงปฏิบัตงานในนามแบบฝังตัว ระบบพี่เลี้ยงสอนน้องอย่างใกล้ชิด สามารถวิจัยและพัฒนาตามบริบทของชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมต่อไป