วช.จับมือ 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำแดนใต้ เสวนา “ยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. ร่วมกับ 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 5 มหาวิทยาลัยในภาคใต้ เปิดเสวนาประเด็น “การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้” แลกเปลี่ยนมุมมอง และแนวทาง เพื่อมุ่งสู่อนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตอนใต้ของไทย อย่างมั่นคง
วันนี้ 16 ธันวาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเสวนา “การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้” ในมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค และวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 แสดงวิสัยทัศน์ และกรอบการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เจาะวิธีแก้ไขปัญหา ให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ดีขึ้น บนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 5 ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ , ผศ.ดร.อภิรัตน์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติร่วมพูดคุยใน 3 ประเด็นหลัก คือ การเหลียวหน้าแลหลังเศรษฐกิจถิ่นใต้ กลยุทธ์สู่อนาคต และภาพรวมนโยบายการขับเคลื่อน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้วางกรอบการนำวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในการทำงานในพื้นที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ โดยรับโจทย์และตั้งหมุดหมายการวิจัยและแผนงาน ที่คำนึงถึง Demand Site การมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้าง Partner บูรณาการใช้ความรู้ร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดผลประโยชน์ร่วม ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ นโยบาย วิชาการ และสังคม โดยมีกลไกสำคัญ คือ การจัดการความรู้เพื่อชุมชน ผ่านเครือข่ายวิจัยภูมิภาค และศูนย์วิจัยชุมชน จากการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ลงสู่สังคม อีกทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การพัฒนากำลังคน นักวิจัยให้มีความพร้อม การขยายการเติบโตด้านอุตสาหกรรมในทุกขนาด โดยโครงการ Grand Challenges เช่นนี้ จะสามารถตอบโจทย์ประเทศในประเด็นที่สำคัญใหญ่ ๆ ได้ เกิดการทำงานเชิงระบบ ท้าทายมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยต้องช่วยกันทำงานเพื่อลดซ้ำซ้อนของงานวิจัย และดำเนินการให้สอดรับกับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลด้วย เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ได้เกิดการขยายผลงานวิจัยแล้วหลายโครงการในภาคใต้ อาทิ งานวิจัยคืนปู่ม้าสู่ทะเลไทย งานวิจัยเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ เป็นต้น โดย วช. ได้สนับสนุนงบประมาณ และระบบ IT ในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของภูมิภาคมาโดยตลอด การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ จึงควรอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน สำหรับกลไกการพัฒนา ได้มองไปถึงการสร้างความสมดุลการมีส่วนร่วม การบูรณาการอย่างจริงจัง การส่งต่อองค์ความรู้แก่ชุมชนเพื่อขจัดความขัดแย้งต่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยต้องมีการ Reskill-Upskill เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันทำกับทุกภาคส่วน ภายใต้โจทย์ปัญหาที่ชัดเจน การวิจัยจึงควรเป็นไปในเชิงลึก โดยเฉพาะการนำ BCG Model มาใช้ จะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ม.ทักษิณ ยังเสริมอีกว่า การเดินหน้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากภาคใต้ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ต้องเสริมสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ บนฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตคนใต้ โดยเชื่อมโยงนโยบาย และกระตุ้นความร่วมมือของคนในชุมชน พร้อมกระจายองค์ความรู้ออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ ม.ทักษิณ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 – 2568 ขึ้น เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม เป็นแนวทางการออกแบบการขับเคลื่อน การดำเนินการ และการปฏิบัติการด้านนวัตกรรมสังคมที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล รวมทั้งแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagships) ต่าง ๆ อีกด้วย