โรค “มนุษย์น้ำ” เหงื่อออกมือรักษาหายขาดด้วยการผ่าตัด

โรค “มนุษย์น้ำ”หรือโรคเหงื่อออกที่มือ หากไม่ประสบปัญหาด้วยตัวเอง หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่านอกจากจะทำให้เกิดความรำคาญในชีวิตประจำวันแล้ว อาการแต่ละคนจะมีผลต่อกิจวัตรประจำวัน เริ่มตั้งแต่การหยิบจับอะไรก็ตาม ก็จะมีเหงื่อซึมออกมาตลอดเวลา ยังส่งผลทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ ในบางรายอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและทำให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพชีวิตประจำวันได้

 นพ.ศิระ เลาหทัย  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า อาการของโรคเหงื่อออกที่มือ มักจะเป็นที่มือทั้ง 2 ข้าง คนไทยป่วยเป็นโรคนี้เฉลี่ย 3% ของประชากรในประเทศ สามารถพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเท่า ๆ กัน โดยอาการที่เกิดขึ้นมักจะไม่สัมพันธ์ต่อการออกกำลังกาย ท่าทางหรือสภาวะอากาศ ในบางรายอาจมีอาการร่วม  เช่น  เหงื่อออกบริเวณรักแร้และฝ่าเท้าทั้งสองข้าง

อาการของโรคนี้มีทั้งหมด 2 สาเหตุ คือ สาเหตุแรก เกิดจากปัจจัยภายนอกที่มีสิ่งเร้า เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน โรคทางระบบประสาทหรือผลข้างเคียงจากยาที่ทาน อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลคือปัจจัยภายใน คือ การที่เส้นประสาทระบบอัตโนมัติของคนนั้นเกิดการกระตุ้นที่ผิดปกติ ส่งผลทำให้เกิดการทำงานที่มากเกินไป ซึ่งในกลุ่มนี้มักพบในคนอายุน้อย

การรักษาโรคนี้สามารถรักษาได้ตั้งแต่การใช้ยาระงับกลิ่นกายหรือสเปรย์ ที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminum Chloride) ซึ่งสารตัวนี้จะส่งผลทำให้ต่อมเหงื่อทำงานน้อยลง แต่มักจะได้ผลเฉพาะเวลาที่ทาเท่านั้น

นอกจากนี้การใช้ยาชนิดรับประทาน คือ ยาที่มีส่วนผสมของ  Anticholinergic มักใช้ในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ยาชนิดรับประทานอาจมีผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการ เช่น ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้และอาเจียนได้

สำหรับวิธีการรักษามีหลายวิธี  เช่น รักษาโดยการฉีดยาที่มือโดยใช้กลุ่มยา Botulinum Toxin โดยส่วนมากมักสามารถคุมอาการได้ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ส่วนวิธีการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องตัดเส้นประสาทบางส่วน (Thoracoscopic sympathectomy) เป็นวิธีการรักษาโรคชนิดนี้ได้ผลดีที่สุดในระยะยาวอย่างถาวร โดยทำการผ่าตัดเส้นประสาทบางบริเวณ ในบริเวณซี่โครงที่ 3-5 โดยวิธีการผ่าตัดทางส่องกล้อง ซึ่งจะมีแผลเล็ก ๆ ขนาด 1 ซม. ทั้งสอง 2 ข้างใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมงและสามารถกลับบ้านได้ในวันถัดไป 

แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียงเกิดภาวะเหงื่อทดแทน (Compensatory Hyperhidrosis) โดยพบได้ 10-30% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด โดยจะมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณช่วงลำตัวหรือขา 

ในปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องเป็นวิธีการรักษา วิธีการเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการเหงื่อออกมือหรือโรคมือเปียก หรือโรคมนุษย์น้ำ ได้ในระยะยาว ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทั้งในการทำงานและมีความมั่นใจต่อไป

สอบถามข้อมูลได้ที่ @lungsurgeryth หรือรับชมได้ที่ www.youtube.com/watch?v=ILReCho3R04&t=42s&ab_channel=คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช หรือสแกนQR Code ได้ที่

                                                                 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *