“เอนก” รมว.การอุดมศึกษาฯ เปิด “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย เครื่องแรกของอาเซียน

“เอนก” รมว.การอุดมศึกษาฯ เปิด “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย เครื่องแรกของอาเซียน เตรียมส่งออกพลังงานสร้างรายได้ให้ประเทศ พร้อมหนุนสทน.วิจัยพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานฟิวชันและพัฒนานักวิทยาศาสตร์รองรับการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.  ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของประเทศไทย “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย โดยมี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. รศ.ดร.ธวัชชัย  อ่อนจันทร์ ผอ.สทน.ผู้บริหาร อว. และหัวหน้าส่วนราชการ อ.องครักษ์ เข้าร่วม ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. อ.องครักษ์ จ.นครนายก

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.
รศ.ดร.ธวัชชัย  อ่อนจันทร์ ผอ.สทน.

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่จะดีดตัวเองออกจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปีข้างหน้า เรากำลังเดินตามญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไม่ใช่ชาติตะวันตก และส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่สำคัญ คือ ด้านพลังงาน เราต้องมีพลังงานพอเพียง สะอาดและปลอดภัย เช่น พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน  ซึ่งเหมือนกับพลังงานที่เกิดบนดวงอาทิตย์ และเวลานี้ อว. โดย สทน. กำลังจะสร้างพลังงานแบบเดียวกับดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกของไทยที่ จ.นครนายก ชื่อว่า เครื่องโทคาแมค หรือ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ใครจะเชื่อว่าไทยจะสามารถทำเรื่องนี้ได้เป็นประเทศแรกในอาเซียน และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถสร้างดวงอาทิตย์ประดิษฐ์หุ้มความร้อนด้วยพลาสมาได้ มีความปลอดภัย อุณหภูมิเป็นล้านองศาแต่ถูกห่อหุ้มด้วยพลาสมา พลังงานสะอาดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตได้มากมาย เป็นพลังงานสะอาดที่ทดแทนพลังงานฟอสซิลเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ที่สำคัญสามารถนำไปทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รูปแบบเดิม โดย อว. ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระเมตตาเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีรับมอบแกนหลักของเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และยังทรงติดตามความก้าวหน้าในอีกหลายโอกาส นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อโครงการฯ นี้โดยแท้

“ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปีไทยจะสร้างเครื่องโทคาแมคได้เอง เราจะมีความมั่นคงทางพลังงาน มีพลังงานสะอาดใช้ และสามารถส่งออกพลังงานเหล่านี้เพื่อสร้างรายได้มหาศาลกลับเข้าประเทศ ที่สำคัญ เราจะทำให้คนในพื้นที่ จ.นครนายกและจังหวัดใกล้เคียงได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด โดยสร้างงานสร้างรายได้ เอาคนในพื้นที่มาร่วมทำงาน นำนักเรียน นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ในโครงการฯ สร้างนักนิวเคลียร์รุ่นใหม่ของประเทศ ขอให้มั่นใจว่า อว. ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่มากที่สุด และพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์หน้าสำคัญนี้อย่างแน่นอน” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

รศ.ดร.ธวัชชัย  อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า สทน. มีแผนการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยชั้นนำในไทยอีก 15 แห่ง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การสนับสนุนงบประมาณ และ สทน.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน หรือ ASIPP มาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีขอบข่ายความร่วมมือในการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อการทำวิจัยด้านพลาสมา และการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ฟิวชัน

จากความร่วมมือดังกล่าว ASIPP  ได้มอบเครื่องโทคาแมค หรือดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ HT-6M ให้ สทน. อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 หลังรับมอบเครื่องโทคาแมค สทน.ได้วางแผนการทำงานเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะแรก เป็นการถอดแบบและศึกษาองค์ประกอบของเครื่องโทคาแมคและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ  รวมถึงการก่อสร้างอาคาร เพื่อเตรียมการติดตั้งเครื่องโทคาแมค ในระยะที่ 2 สทน.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมร่วมออกแบบและพัฒนาระบบต่างๆของเครื่องโทคาแมค และประกอบเครื่องจนสามารถเดินเครื่องได้   และระยะที่ 3 เป็นการย้ายเครื่องกลับมาประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 

และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สทน. ได้ลงนามกับ ASIPP เพื่อที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนต่างๆ ที่ประเทศจีน จนเมื่อเครื่องทำงานได้ก็จะทำการถอดประกอบและขนส่งมาติดตั้ง ณ สทน. องครักษ์ ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2  ในส่วนการก่อสร้างอาคารสำหรับติดตั้งเครื่องโทคาแมคนั้น ความคืบหน้าของการก่อสร้าง และอุปกรณ์สำหรับอาคารห้องปฏิบัติการคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 80 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2565 นี้

สำหรับเครื่องโทคาแมคหรือดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ที่ไทยพัฒนาร่วมกับ ASIPP จะมีชื่อว่า Thai Tokamak-1 หรือ TT-1 เมื่อเดินเครื่อง คาดว่าอุณหภูมิของพลาสมาในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนองศาเซลเซียส และ สทน. มีแผนพัฒนาระบบให้ความร้อนเสริมแก่พลาสมาด้วยวิธีการให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุณหภูมิของพลาสมาไปสู่ระดับ 1 ล้านองศาเซลเซียส  และในอนาคตจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเองโดยจะใช้เทคโนโลยี Superconducting magnet เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงขึ้นสำหรับกักพลาสมาและการให้ความร้อนเสริมด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างพลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงในระดับ 10 ล้านองศาเซลเซียสได้ ทั้งนี้เครื่องโทคาแมคที่ติดตั้งที่ สทน. จะใช้สำหรับการศึกษาปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งการเดินเครื่องพลาสมาจากเครื่อง TT-1 ในครั้งแรกคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566

 ศ.นพ. สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  เปิดเผยว่า ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นแนวโน้มที่พลังงานฟิวชัน จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ที่เป็นไปได้มากขึ้นๆ ทุกขณะ ดังที่เราได้ประโยชน์จากปฏิกิริยาฟิวชันจากดวงอาทิตย์  จากวิกฤตทางพลังงานที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้ ความสามารถอันจำกัดของแหล่งพลังงานที่เรามีอยู่ในปัจจุบันผนวกกับการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งพลังงานทางเลือก ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนไปซ้ำเติมสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ประกอบกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพลาสมา เพื่อผลิตพลังงานฟิวชันมีพัฒนาการอย่างสูงยิ่งในระยะสองสามปีที่ผ่านมา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เทคโนโลยีดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงมีโครงการผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยวิศวกร นวัตกร ให้เพียงพอรองรับการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ โดยจะหนึ่งในโครงการนำร่องของสถาบันวิทยสถานวิทยาศาสตร์ (Thailand Academy of Science; ThAS, ธาส) ที่ อว. มีดำริจะจัดตั้งขึ้น เพื่อยกศักยภาพการวิจัย การศึกษา และนวัตกรรม สร้างนักวิจัยหรือบัณฑิตที่มีศักยภาพ ของกระทรวงฯ ของหน่วยงานในสังกัด และของประเทศ

 อนึ่งเครื่องโทคาแมค เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูงโดยใช้สนามแม่เหล็ก และเป็นเครื่องมือหลักอย่างหนึ่งที่ใช้ควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน มีการใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ในสหภาพโซเวียต โดยเครื่องที่มีชื่อว่า T-10 สำหรับในปัจจุบันนั้น เครื่อง JET ในอังกฤษ เป็นเครื่องโทคาแมคที่สร้างพลังงานจากฟิวชันได้สูงสุด (ที่ 30 MW) นอกจากนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส เกาหลีใต้ และจีน ก็เป็นตัวอย่างของกลุ่มประเทศที่มีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับโทคาแมค อย่างจริงจัง

สสารในสภาวะปกติจะอยู่ในลักษณะของโมเลกุลซึ่งประกอบไปด้วยอะตอม อะตอมเหล่านี้มีประจุไฟฟ้าเป็นศูนย์เนื่องจากมีประจุบวกของโปรตอนและประจุลบของอิเล็กตรอนอยู่ด้วยกันในจำนวนที่เท่ากัน พลาสมาเป็นสถานะของสสารที่มีไอออนบวกกับอิเล็กตรอนที่แยกกันอยู่ส่วนหนึ่ง จึงมีประจุอยู่ทั่วพลาสมา

โทคาแมกมีลักษณะรูปทรงคล้ายโดนัท พลาสมาจะวิ่งเป็นทางไขว้แบบ helix (นึกภาพเส้นลวดของสปริง นั่นคือรูปร่างของ helix) หลักการในการควบคุมพลาสมานี้คือการใช้แรงแม่เหล็ก โดยมีการควบคุมในสองแนว คือวงรอบยาวที่มีทรงคล้ายห่วงยาง (toroidal) และรอบขวาง (poloidal) แสดงให้เห็นถึงแรงทางแม่เหล็ก และสนามแม่เหล็ก

ล่าสุดประเทศจีน โดยสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเหอเฟ่ย์ มณฑลอานฮุย  ประสบผลสำเร็จในการทดลองเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันหรือเครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นการจำลองปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชันซึ่งเกิดตามธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ให้เกิดขึ้นบนโลก ผลการทดลองเดินเครื่องโทคาแมคครั้งนี้ สร้างให้เกิดพลาสมาที่ความร้อนสูงถึง 70 ล้านองศาเซียลเซียส เป็นระยะเวลา 1,056 วินาที หรือราว 17 นาที ซึ่งถือเป็นสถิติโลกใหม่ที่สามารถเดินเครื่องได้นานที่สุดตั้งแต่มีการทดลองขึ้น ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทาง ASIPP ได้ทำทดลองเดินเครื่องโทคาแมคได้พลาสมาที่พลังงานความร้อนสูงสุด 120 ล้านองศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 101 วินาที การทดลองดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นของนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาและทดลองด้านปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชันทั่วโลก

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.