นักวิจัยสำรวจ พบสินค้าผสมกัญชาขายในไทยเพียบ นิยมสุดคือหัวน้ำหวานแทนยาแก้ไอ อึ้งพบ 4×100 สำเร็จรูป ขายเกลื่อนออนไลน์ ห่วงผลกระทบสาร THC สมองหยุดพัฒนา เสี่ยงจิตเภท ซึมเศร้า หลอดเลือดหัวใจ สมอง ยันมะเร็งอัณฑะ เทียบคุกกี้ไทย พบกัญชาสูงกว่าอเมริกา 5 เท่า หวั่นสังคมแย่ลง วอนช่วยกันดูแล
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) : เพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด ครั้งที่ 9 ผ่านระบบ ZOOM
โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศศก. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลดกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดแล้ว และกำลังรอการออกกฎหมายมาควบคุม ยกเว้นสารสกัด THC เกิน 0.2% ที่ยังถือเป็นยาเสพติด ซึ่ง 8% ของคนที่มีการใช้กัญชานานๆ โดยเฉพาะเด็กจะมีปัญหาจากกัญชาตามมา โดยจากการสำรวจของ ศศก. เมื่อปลายปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปประมาณ 1.89 ล้านคน หรือ 4.3% มีการใช้กัญชา ซึ่งเพิ่มขึ้น จากปี 2563 ที่ผลสำรวจประมาณการผู้ใช้กัญชาอยู่ที่ 1 ล้านคน เนื่องจากประเทศไทยมีการอนุญาตให้มีการใช้บางส่วนของกัญชาได้
รศ.ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่นิยมนั่งคุย หรือทำงานนานๆ ในร้านขายเครื่องดื่ม จึงมีโอกาสที่จะได้ลองเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชามากขึ้น ซึ่งขณะนี้ตนและคณะอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยหาปริมาณสาร THC ในเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้าน โดยเก็บตัวอย่างเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา 30 ตัวอย่าง ในร้านค้าในกทม. ทั้งประเภทชา และประเภทที่ใส่นม เปรียบเทียบกับประกาศแนบท้ายกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับเกณฑ์การอนุญาตให้มี THC เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 0.015 มิลลิกรัมต่อ 100 ML ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่าบางตัวอย่างพบพีคของสาร THC เกินเกณฑ์ บางตัวอย่างก็ไม่พบ แต่สรุปในเบื้องต้นพบ 70% ยังอยู่ในเกณฑ์ประกาศ สธ. ส่วนการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ยุโรป อิตาลีพบผลิตภัณฑ์ที่มีสาร THC สูงที่สุดคือชากัญชง หรือ เฮมพ์
ด้าน ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากการสำรวจตลาดออนไลน์ในประเทศไทยปี 2564-2565 พบว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมจำนวนมากทั้งรูปแบบกัญชา ขนม เยลลี่ เครื่องดื่ม ยาแก้ไอ เครื่องดื่ม 4×100 สำเร็จรูป กัญชาผสมในบุหรี่ไฟฟ้า และอื่น ๆ ทั้งนี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2564 คือรูปแบบน้ำหวานทดแทนยาแก้ไอ 46% เครื่องดื่มลีน 22% กัญชา 11% เยลลี่เมา 10% เห็ดเมา 6% ทั้งนี้ มีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูด ให้เห็นว่ากัญชาเป็นสินค้าที่น่ารัก น่าใช้ สร้างความเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่อันตราย โดยเฉพาะการขายทางออนไลน์ส่วนการควบคุม ตรวจสอบ มีการอ้างการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โฆษณาเกินจริง มีการส่งเสริมการขายจัดโปรโมชั่น ลดราคา ส่งฟรี เป็นต้น และยังมีการใช้ผู้มีอิทธิพลในการสื่อสารรีวิว ยูทูปเบอร์ และขายแฟรนไชส์เพื่อเป็นการขยายตลาด เป็นต้น ดังนั้นถึงปลดล็อคแล้วยังต้องมีการตรวจสอบ และสร้างความรู้ที่ดีไม่เช่นนั้นสังคมไทยจะน่ากลัวมาก
ขณะที่ ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สาร THC จะแอคทีฟได้ต้องผ่านความร้อน รวมถึงละลายได้ดีในไขมัน ที่ผ่านมาในต่างประเทศพบคนเอาไปสูบกับอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าพบว่า ปอดอักเสบในผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้น สูงถึง 82% เกิดจากกัญชาผสม ทั้งนี้เมื่อดูในส่วนผสมกันในผลิตภัณฑ์ของกินต่างๆ พบว่าใน FDA ของสหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้ใส่เลย แต่รัฐต่างๆ สามารถออกข้อกำหนดของตัวเองได้ โดยบางรัฐได้กำหนดปริมาณที่ปลอดภัยในระยะสั้นเอาไว้ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม แต่ไม่ได้การันตีผลในระยะยาว เช่นคุกกี้เฉลี่ย 1 ชิ้นมี 20 มก. ก็มีแนะนำให้กิน 1 ใน 4 ของชิ้น เยลลี่หมีมี 10 มก.ต่อชิ้น บราวนี่ 250 มก.ต่อชิ้น และมีคำแนะนำในการกินในปริมาณน้อยเพื่อดูผลก่อน ไม่ควรกินซ้ำเพราะจะทำให้ได้รับสารกัญชาเกินขนาด แต่ในทางปฏิบัติ พฤติกรรมของคนไม่ได้แบ่งกินเช่นนั้น เมื่อเทียบกับการตรวจคุกกี้ในไทยพบว่า 1 ชิ้นมีกัญชา 0.498% โดยน้ำหนัก ขนาดกลาง จะได้ 0.00996% คิดเป็นมิลลิกรัมได้ 99 มิลลิกรัม เยอะกว่าคุกกี้สหรัฐ 5 เท่า ดังนั้นถึงมีภาพคนกินคุกกี้แล้วเข้ารพ. ยกเว้นคนเสพกัญชา หรือใช้จนช่ำชองถึงจะไม่เป็นอะไร ส่วนมือใหม่เสี่ยงเข้ารพ.ซึ่งปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียมีแม่ลูกสั่งคุกกี้มากินแต่อยู่ ๆ ลูก 5 ขวบก็กรีดร้อง ร้านออกมายอมรับเนยมีส่วนผสมของกัญชา แต่เอาไว้ทำกินเองไม่รู้ว่าปนมากับกัญชาที่เสิร์ฟให้ลูกค้าได้อย่างไร ดังนั้นถามว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือไม่ ที่ผ่านมายังมีข่าวพริตตี้ถูกหลอกกินบราวนี่กัญชาทำคอแห้ง ภาพหลอน ตาพร่ามัว เพื่อนต้องพาไปหาหมอ ดังนั้นนี่ไม่ใช่แค่การหยิบผิด แต่มีการเอาไปใช้เพื่อหวังผลประโยชน์แอบแฝง ดังนั้นต้องช่วยกันดูแลลูกหลาน
ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าวต่อว่า นั่นคือผลระยะสั้น ส่วนผลระยะยาวที่พบคือ โรคทางจิตเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า การลงมือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ติดกัญชาได้ 10% หากเป็นวัยเรียนมีโอกาสติดเพิ่มเป็น 17% นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเรียนรู้ สมาธิสั้น และปัญหาความจำ ถึงหยุดใช้ไปนานถึงหกปีแต่สมองด้านการใช้แบบมีเหตุผลก็ยังไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังทำให้สมองฝ่อ ถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดแขน-ขาตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มความเสี่ยงหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และเรื้อรัง สัมพันธ์กับมะเร็งอัณฑะและมะเร็งปอด และยังพบขับรถชนเสียชีวิตในอเมริกาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่าประกันจะจ่ายหรือไม่ กรณีตรวจเจอกัญชา รวมถึงอาจจะมีผลในการพิจารณารับเข้าทำงาน.