เวทีคู่ขนานประชุมคณะกรรมาธิการUN ชี้นโยบายขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ช่วยนานาชาติฟื้นฟูหลังโควิด-19

เวทีคู่ขนานการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติ ชี้นโยบายขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ช่วยนานาประเทศฟื้นฟูหลังโควิด-19 และหนุนการบรรลุเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้าน สสส. ชี้ไทยมีแต่ได้กับได้ ประโยชน์ 3 เด้ง เพิ่มรายได้รัฐ-ลดภาระสุขภาพและสังคม-สกัดนักดื่มหน้าใหม่ ศรีลังกาเดินตามไทยใช้ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” แก้ปัญหาการบริโภคสุรา

โมเวนดิ อินเตอร์เนชันแนล องค์กรขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนานโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ระดับโลก และองค์การอนามัยโลกภาคพื้นอเมริกา ร่วมจัดเวทีคู่ขนาน (Side Event) ของการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติด้านการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 60 (60th United Nations Commission on Social Development) เรื่อง ภาษีแอลกอฮอล์ : โอกาสและศักยภาพเพื่อฟื้นฟูหลังโควิด-19 และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Alcohol Taxation: The untapped potential for covid-19 recovery and sustainable development) โดยมีการถอดบทเรียนนโยบายด้านภาษีแอลกอฮอล์ โดยหน่วยงานสากลและจากประเทศต่างๆ เป็นกรณีศึกษาเพื่อการฟื้นฟูประเทศภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 (Sustainable Development Goals: SDGs 2030)


คริสตินา สเปอโควา ประธาน โมเวนดิ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ครัวเรือนยากจนลง และส่งผลต่อสุขภาพและสังคม กระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างน้อย 13 เป้าหมาย จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย อาทิ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าที่ 2 ยุติความหิวโหย และ เป้าที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี


“เมื่อปี 2553 องค์การอนามัยโลกออกรายงานชี้แนะประเทศสมาชิกว่า นโยบายขึ้นภาษีแอลกอฮอล์จะช่วยลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ประเทศต่างๆ ยังไม่ค่อยนำไปใช้เพิ่มการจัดเก็บรายได้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม นอกจากนี้นโยบายด้านภาษียังโดนแทรกแซงอย่างหนักจากภาคอุตสาหกรรม ต่อมาจึงมีการศึกษาและถอดบทเรียนจนได้ข้อบ่งชี้ในปี 2562 ว่า ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นภาษีเพื่อสุขภาพที่ช่วยให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติสามารถขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากถึง 10 เป้าหมายด้วยกัน” คริสตินา กล่าว


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สุราและยาสูบเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนถึง 13 ข้อ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างยิ่ง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้คนไทยเสียชีวิตประมาณ 5 หมื่นราย/ปี เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม คำนวณเป็นเม็ดเงินมากกว่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับ 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ของประเทศในปี 2560 สำหรับการศึกษาประเด็นปัญหาเชิงสังคมพบว่า คนไทยราว 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น อุบัติเหตุเมาแล้วขับ ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาทะเลาะวิวาท ความรุนแรงในที่ทำงาน


“สำหรับประเทศไทยมีทั้งนโยบายการจัดเก็บภาษีเหล้าเบียร์และการนำใช้ภาษีเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ ผ่านการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงเป็นประโยชน์ถึง 3 ต่อ (Win-Win-Win Approach) คือ 1. เพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีในประเทศ 2. ลดภาระทางสุขภาพและสังคม หนุนเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3. ลดการเกิดนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลการศึกษาการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายของประชากรของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังช่วยยกระดับสุขภาวะในสังคมไทยในภาพรวมอีกด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว


ดร.โรฮาน รัตนายาเก ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขศรีลังกา กล่าวว่า ประเทศศรีลังกามีมาตรการป้องกันปัญหาเมาแล้วขับอย่างเข้มงวด และยังมีแนวทางการทำงานที่ศึกษาจากประเทศไทยคือ “สามเหลี่ยม เขยื้อนภูเขา” ซึ่งช่วยลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ โดยศรีลังกามีต้นทุนที่ดีคือวัฒนธรรมที่ไม่ดื่มเหล้าสุราเป็นทุนเดิม ซึ่งจากตัวเลขการศึกษาของศูนย์วิจัยนโยบายสุรา (Centre for Alcohol Policy Solutions: CAPS) พบว่า 40.2% ของประชากรศรีลังกาเพศชาย และมากถึง 96.5% ของประชากรเพศหญิงไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของสื่อทำให้เกิดค่านิยมที่เปลี่ยนไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ประกอบกับความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าดื่มเหล้าเบียร์นิดหน่อยไม่เป็นปัญหากับสุขภาพ สิ่งเหล่านี้คืองานที่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในประเทศ


ด้าน ดร.ชีลา ดัตตา ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก กล่าวว่า นโยบายทางภาษีแอลกอฮอล์สามารถช่วยให้นโยบายสุขภาพถ้วนหน้ามีความก้าวหน้าและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนสุขภาวะ นอกจากนี้ยังช่วยให้ประเทศต่างๆ มีทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศให้กลับมาเข้มแข็งภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.