สสส. เดินหน้าลดปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย เพิ่มกินผัก-ผลไม้ และอาหารเพื่อสุขภาพ สกัดโรคอ้วน ป้องกันป่วยกลุ่มโรค NCDs โชว์ผลงานรูปธรรมแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลดหวาน มัน เค็ม ตลาดสีเขียว เกษตรกรรมยั่งยืน เอื้อสร้างสังคมสุขภาวะ
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. โครงการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แผนอาหารสุขภาวะ บูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อขยายผลและสื่อสารงานอาหารสู่สาธารณะ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอาหารทั่วประเทศ จัดเวทีประชุมประจำปีแผนอาหาร 2565 “นำเสนอผลงาน นวัตกรรม รูปธรรมพื้นที่ ความรู้ และการขับเคลื่อนสังคม” เป็นครั้งแรก ในโอกาสที่ดำเนินงานครบรอบ 15 ปี ของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เพื่อนำเสนอนวัตกรรมและแลกเปลี่ยนการทำงานของภาคีแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ที่สร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็นพลเมืองอาหาร ชุมชนอาหาร ที่นำไปสู่การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ถูกจัดอยู่ในอันดับ 5 ของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ขณะที่ภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 3 โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน คือ การกินอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่มากเกิน อีกทั้งยังพบว่าในปัจจุบันคนไทยเกินกว่าร้อยละ 60 กินผักผลไม้ในปริมาณน้อย แต่กลับมีแนวโน้มเข้าถึงอาหารแปรรูปต่างๆ ได้ง่าย เพราะซื้อหาได้สะดวก มีให้เลือกหลากหลาย ราคาไม่แพง ดังนั้นการจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยจึงนับเป็นโจทย์สำคัญที่มีความท้าทายและจำเป็นต้องอาศัยการทำงานที่ขับเคลื่อนทั้งระบบอาหารตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การจำหน่าย ไปจนถึงการปรุงประกอบอาหารและการบริโภค เพื่อเอื้อให้ประชากรสามารถเข้าถึงผักผลไม้และอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพได้มากขึ้น รวมทั้งลดโอกาสหรือช่องทางการเข้าถึงอาหารประเภทแปรรูป เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมการกินที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการและดีต่อสุขภาพ
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า จากการสำรวจผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และการบังคับใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ร่วมกับการส่งเสริมมาตรการ Social distancing ในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ปี 2563 พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยหันมาทำอาหารกินเอง 57.5% แต่กลับกินผักและผลไม้ลดลง 8.3% และ 10.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ คนไทยมีความเครียด 39% นอนหลับยากมากขึ้น 16.7% มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 29.3% และดื่มเครื่องดื่มรสหวานเพิ่มขึ้น 18.7% กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 18.3% อาหารกระป๋อง 15.6% ขนมกรุบกรอบ 13.6% และขนมหวานหรือลูกกวาด 6.8% ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทำให้ภาระของโรค NCDs รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเปราะบาง
“รูปธรรมการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่ายอาหาร ทำให้คนเข้าถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการที่เหมาะสม สร้างค่านิยมและพฤติกรรมของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยการใช้ความรู้ ใช้พลังการสื่อสารสังคม และการผลักดันนโยบายที่สำคัญๆ ประกอบกับ สสส. ได้มีส่วนร่วมกันรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัวและมีความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารและโภชนาการที่มีคุณค่าเหมาะสมตามวัย เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ล้นเกินทั้งลดหวาน มัน เค็ม และเพิ่มการผักผลไม้ให้มากขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ” ดร.สุปรีดา กล่าว
นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 กล่าวว่า นับแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แผนอาหารเพื่อสุขภาวะได้ขับเคลื่อนประเด็นอาหารเพื่อความตระหนักและการรับรู้ของสังคมไทย และส่งผลต่อการสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขับเคลื่อนเรื่องการลดการเพื่อลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม ที่ล้นเกิน เสริมสร้างความปลอดภัยและด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น นอกจากนั้นยังดำเนินการพัฒนารูปธรรมและต้นแบบการจัดการด้านอาหารในระดับพื้นที่ ได้แก่ โรงเรียนอาหารสุขภาวะ โรงเรียนอ่อนหวาน โรงพยาบาลสีเขียว โรงพยาบาลลดหวานมันเค็ม ขับเคลื่อนให้เกิดการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การทำเกษตรกรรมในพื้นที่เขตเมือง สร้างช่องทางจำหน่ายผลผลิตที่ปลอดภัยในรูปแบบตลาดสีเขียว การพัฒนาและจัดการอาหารริมบาทวิถีให้มีคคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นต้น รวมทั้งการผลักดันนโยบายและมาตรการที่ส่งผลต่อการสร้างสภาพแวดล้อมด้านอาหารและโภชนาการที่ดี การสื่อสารประเด็นอาหารต่อสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ของสังคมในวงกว้างทั่วในประเทศ
สำหรับเวทีประชุมประจำปีแผนอาหาร 2565 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 9:00 – 16:00 น. และขอเชิญผู้สนใจร่วมติดตามรายละเอียดกำหนดการและหัวข้อการอภิปรายที่สนใจได้ทางเฟซบุ๊กเพจ Food Citizens และเข้าร่วมรับฟังได้ทางแอปพลิเคชัน Zoom Meeting ID Meeting ID : 5474998536 Passcord : 547499 ในวันและเวลาดังกล่าว หรือรับชมการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเพจ Food Citizens