TCMA เผยลดก๊าซเรือนกระจกเร็วกว่าเป้า ก้าวต่อไป ‘MISSION 2023’ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

TCMA เผยลดก๊าซเรือนกระจกได้เร็วกว่าเป้าหมายเตรียมก้าวต่อไป ‘MISSION 2023’ บูรณาการความร่วมมือสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เผยความสำเร็จแรกลดก๊าซเรือนกระจก 300,000 ตัน CO2 เร็วกว่าเป้าที่วางเอาไว้ เดินหน้าจับมือ 23 ภาคี โดยการสนับสนุนของ 6 กระทรวง ยกระดับลดก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) มาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมประกาศ​ “MISSION 2023” รวมพลังลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น ในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2565 นี้

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยความสำเร็จภารกิจของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรการทดแทนปูนเม็ด ว่า ตามที่สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ร่วมกับ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 300,000 ตัน CO2 ภายในสิ้นปี 2565 อย่างไรก็ดีจากความมุ่งมั่นร่วมมือกันทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี 

“จากความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายแรกลดการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจก 300,000 ตัน CO2 ในสิ้นปีที่ผ่านมา จากแผนเดิมที่วางไว้ในสิ้นปี 2565 ทั้งนี้ ต้องขอบคุณความร่วมมือจาก 16 ภาคีร่วมดำเนินการ จากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา และการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ที่ส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากนี้ เตรียมเดินหน้าทำภารกิจในแผนงานต่อไป โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน COภายในปี 2566”  นายชนะ กล่าว

โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 TCMA ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ  16 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการบรรลุเป้าหมาย 300,000 ตัน COด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ส่วนของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้เกิดเป็นรูปธรรม เริ่มต้นที่งานก่อสร้างประเภทต่างๆ ปรับเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ตาม มอก. 2594 ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์พร้อมสนับสนุนเป้าหมายของภาครัฐในการลดก๊าซเรือนกระจก
ร้อยละ 40  จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ตลอดกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ จนเกิดเป็นปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในส่วนของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลกนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่ประเทศสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เห็นพ้องที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม


ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก UNFCCC และได้ให้สัตยาบันตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2559 ที่จะมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Reduction) และในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คร้ังที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP 26) ในปี 2564 ประกาศยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นร้อยละ 40 พร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608 

TCMA จึงเชิญชวนภาคีร่วมกันยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในสาขา IPPU
มาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการตั้งเป้าหมายใหม่ที่ท้าทาย ‘MISSION 2023’ ลดก๊าซเรือนกระจก
1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ทั้งนี้ TCMA มีกำหนดประกาศความสำเร็จเป้าหมายแรก พร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรเดินหน้า
แผนผลักดันอย่างต่อเนื่อง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน สนับสนุนนโยบาย Thailand Net Zero ประกาศเป้าหมายใหม่ ‘MISSION 2023’ โดยมีผู้ร่วมสนับสนุน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแสดงพลังเครือข่าย และผนึกกำลังไปสู่เป้าหมาย วันอังคารที่ 29 มีนาคม 2565 เวลา 9.30 – 11.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *