วันที่ 6 เมษายน 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอุเทน ชนะกุล โฆษกกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ชี้แจงกรณีสื่อออนไลน์ นำเสนอการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน โพสต์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565
นายอุเทน ชี้แจงว่า งบประมาณการดำเนินโครงการฯ 4.3 พันล้าน ซึ่งเป็นการประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ รวม 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) เงินอุดหนุนสงเคราะห์ สำหรับดูแลกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ จ่ายตรงถึงประชาชน 2) เงินสำหรับดูแลผู้ใช้บริการในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ ซึ่งดูแลผู้ใช้บริการกว่า 6,000 คน และ 3) เงินสำหรับการบริหารจัดการและโครงการต่าง ๆ
สำหรับการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 สำนักการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการประชุมหารือและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาะบบและปรับปรุงการดำเนินงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของประชาชน ปัจจุบัน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ดังนี้
- พัฒนาระบบฐานสารสนเทศ ตั้งแต่ปี 2562 สำหรับบันทึกข้อมูลกลุ่มเป้าหมายผู้ประสบปัญหาทางสังคม เพื่อตรวจสอบข้อมูลและ ลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือ
- กำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสอบข้อเท็จจริง เพื่อประเมินและวินิจฉัยให้ความช่วยเหลือร่วมกับทีมสหวิชาชีพ และมีคณะกรรมการระดับจังหวัด เป็นกลไกหลักในการพิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน
- กำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ โอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบออนไลน์ (Krungthai Corporate Online) ตั้งแต่ปี 2561
- การนำข้อมูล TPMAP เป็นฐานข้อมูลหลักในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน
- การพัฒนาระบบ Telemedicine
- ในการส่งเสริมการฟื้นฟูทางด้านสุขภาพร่างกายกายและจิตใจแก่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการวางแนวทางการประสานส่งต่อกลุ่มเป้าหมายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้มีการจ่ายเงินสงเคราะห์ที่รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ยังมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ อพม. ในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและติดตามผลการดำเนินงานหลังจากการจ่ายเงินสงเคราะห์แล้ว
ซึ่งปัจจุบันกระทรวง พม.มีนโยบายที่ชัดเจนว่าไม่ได้ให้การแบบครั้งเดียว หรือจ่ายเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวแล้วจบ และมีการติดตามการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “สมุดพกครอบครัว” เพื่อดูพัฒนาการของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ เป็นการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าต่อไป