สสส. – ศวส. พบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างความเสียหายในชีวิต – ประเทศชาติ เพิ่มภาระครัวเรือนกว่า 170 ล้านบาท/ปี กระทบค่าใช้จ่ายทางการแพทย์มหาศาล เผยผลสำรวจ 10 ปีที่ผ่านมา รณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า พบ “นักดื่มลดลง”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จัดเสวนาวิชาการออนไลน์หัวข้อปัญหาจากการดื่มสุราและมาตรการของประเทศไทยที่มีการบังคับใช้ พร้อมเผยสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย พ.ศ.2564 มีเป้าหมายถอดบทเรียนและผลักดันให้เกิดสังคมปลอดภัยไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100% เพื่อสุขภาวะที่ดี
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะผู้ดื่มขาดสติยั้งคิดทำให้เกิดเหตุแห่งความสูญเสียและสร้างปัญหามากมายในชีวิต ได้แก่
1.ด้านสุขภาพ โดยภาวะโรคที่เป็นสาเหตุจากการเจ็บป่วยสูงสุดทั้งเพศชายและหญิง ได้แก่ โรคตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic liver disease), โรคตับ (Unspecified liver disease), โรคหัวใจขาดเลือด (lschemic heart disease), ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน (Alcohol acute intoxication) 2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น เกิดความรุนแรงในครอบครัว, ทะเลาะวิวาท, อุบัติเหตุทางถนน และ
3.ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ เช่น สูญเสียค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์มหาศาล, หน้าที่การงานมีปัญหา, ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ, ประเทศขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านลบต่อประเทศชัดเจน
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เผยการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน พ.ศ.2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “เบียร์” คิดเป็น 43.39%
ส่วนอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบ “ภาคเหนือ” มีนักดื่มมากที่สุด คิดเป็น 33.1% ขณะที่ประเภทของนักดื่มแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.นักดื่มหนักในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 15.96 ล้านคน 2.นักดื่มประจำ มีจำนวน 6.99 ล้านคน และ 3.นักดื่มเป็นครั้งคราว 8.97 ล้านคน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา พบคนไทยมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเหลือ 28%
ขณะที่กองบัญชีประชาชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2563 พบมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็น 171,313 ล้านบาท เป็นความเสียหายทางอ้อม เช่น ขาดงาน หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่าย ยืนยันเดินหน้าส่งเสริมให้ประชาชนลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขทุกชนิด เพื่อสุขภาวะที่ดีของตัวเองและประเทศชาติต่อไป