นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลุยสำรวจเมืองโบราณโนนเมือง จ.ขอนแก่น แหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีเกี่ยวกับชีวิตคนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำเชิญเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยสืบหาเรื่องราวในอดีต พร้อมหารือความร่วมมือกับนักโบราณคดีในขอนแก่น
ดร.แพร จิรวัฒน์กุล ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 1.1W สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สำริดโบราณนั้นมีความน่าสนใจทั้งในแง่ธาตุองค์ประกอบ และโครงสร้างผลึก ซึ่งถ้านำมาศึกษาด้วยแสงซินโครตรอน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่จังหวัดนครราชสีมา จะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและละเอียดขึ้นมาก จากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ที่เมืองโบราณโนนเมืองในจังหวัดขอนแก่น มีการขุดค้นพบสำริด ทั้งขวานสำริด และกำไลข้อมือสำริด ที่หลุมศพของมนุษย์โบราณหลายยุคสมัย จึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญสำหรับโครงการจัดทำฐานข้อมูลทางโบราณคดีของสถาบันฯ”
สำหรับเมืองโบราณโนนเมืองเคยเป็นถิ่นอาศัยของคนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำเชิญเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน จนถึงสมัยทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 และต่อเนื่องถึงสมัยวัฒนธรรมเขมรและวัฒนธรรมล้านช้างช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดี โดยมีหลุมจัดแสดงกลางแจ้งจำนวน 5 อาคาร ซึ่งหลุมจัดแสดงดังกล่าวเคยเป็นหลุมขุดค้นที่ขุดพบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับสำริด ภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็ก เครื่องปั้นดินเผา รวมถึงแม่พิมพ์สำหรับหล่อขวานสำริด กำไลเปลือกหอยทะเล ลูกปัดหิน และลูกปัดแก้ว
ทั้งนี้ ดร.แพร จิรวัฒน์กุล และคณะนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ได้เข้าเยี่ยมชมเมืองโบราณโนนเมืองพร้อมหารือกับนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น และภัณฑรักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เพื่อสร้างความร่วมมือในการนำตัวอย่างโบราณวัตถุไปวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน โดยจะดำเนินการภายใต้โครงการจัดตั้งวิทยาสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ (ธัชชา) ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ กำลังวิเคราะห์ตัวอย่างโลหะโบราณ อาทิ ทองคำโบราณ สำริดโบราณ เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการศึกษาทางโบราณคดีต่อไป