สสส. ร่วมกับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ฯ พัฒนาศักยภาพในอนาคต เข้าถึงชุมชน-ทำงานเชิงรุก-เข้าถึงพฤติกรรม-ดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบองค์รวม เสริมสร้างรากฐานระบบสุขภาพ-สร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการสัมมนาออนไลน์ “2nd Online Workshop by IFMSA Bootcamp 2022” ว่า สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์จาก 23 โรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ
โดย Bootcamp เป็นหนึ่งใน “เครื่องมือเชิงกระบวนการ” เพื่อการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญด้านบุคลากรในระบบสุขภาพในอนาคตด้านการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเข้าไปถึงพื้นที่เพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของพื้นที่
“ปัจจุบันแพทย์จะต้องมีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (Holistic Approach) การมีสุขภาพที่ดี ไม่เพียงแต่แค่ไม่มีโรคทางกายเพียงเท่านั้น จะต้องรวมไปถึง อารมณ์ จิตใจ ผู้ป่วยบางรายเมื่อใจป่วย กายก็ป่วย เช่นทุกข์มาก ทานอาหารไม่ได้ เป็นโรคกระเพาะ แพทย์จึงจะต้องดูแลให้คนไข้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวมด้วย
ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ ให้มีความเข้าใจตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ จึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ในระดับปฐมภูมิ ที่เน้นการทำงานเชิงรุกที่เข้าไปสู่ชุมชน รวมถึงการมององค์รวมอื่น ๆ เช่น เพศ เชื้อชาติ ความพิการ การศึกษา สถานะทางทะเบียน ซึ่งจะทำให้เห็นความซับซ้อนของปัญหา มองสถานการณ์สุขภาพอย่างรอบด้าน และสามารถพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพใหม่ๆ เพื่อขจัดปัจจัยทางสังคมที่เป็นอุปสรรค หรือเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี เป็นการเสริมสร้างรากฐานงานสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ได้บรรยายให้ความรู้ในการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ว่า “การเรียนรู้ปัญหาของโครงสร้างสาธารณสุขตั้งแต่ชุมชน จะทำให้สามารถเข้าถึงสุขภาพของคนในชุมชนได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ เทศบาล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ที่จะร่วมกันทำงานแก้ปัญหาระบบสุขภาพอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาระบบสุขภาพของคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนซึ่งเป็นต้นทุนในการต่อยอดเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพทุกระดับในอนาคตต่อไป”
ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ สู่การเป็นแพทย์ในอนาคต จะต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพของบุคคล พฤติกรรมของชุมชน และเห็นพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นผลมาจากระบบโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม สามารถวิเคราะห์ มองเห็นแนวโน้มของการเกิดพฤติกรรม เช่น แนวโน้มการเกิดการระบาดของไข้เลือดออก แนวโน้มพฤติกรรมการทานอาหารที่นำมาสู่โรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs
หากเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรม จะสามารถนำมาวางแผนป้องกัน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทุกช่วงวัย และสอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลาย ในแต่ละบริบทของเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในสังคมได้