รพ.ทั่วไทยใช้ “ห้องความดันลบ” ผลงานซินโครตรอนสู้โควิด-19 แล้วกว่า 80 ห้อง

ตลอด 3 ปีที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรับมือโรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัสโคโรนา โดยนายพีระพัฒน์ ถิ่นหนองแวง วิศวกร 1 (เครื่องกล) และทีมวิจัย ได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านระบบควบคุมและวิศวกรรมขั้นสูง มาสร้างเป็น “ห้องแยกโรคความดันลบ” ที่มีราคาประหยัด ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก และออกแบบตามขนาดพื้นที่ใช้สอย ซึ่งช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อระหว่างรักษาผู้ป่วย โดยได้ส่งมอบแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วทั้งหมดกว่า 80 ห้อง

นายสำเริง ด้วงนิล
รองผู้อำนวยการสนับสนุนทางเทคนิค
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
kk5

นายสำเริง ด้วงนิล รองผู้อำนวยการสนับสนุนทางเทคนิค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานับแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันฯ ได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ทางด้านระบบควบคุม ระบบสุญญากาศและวิศวกรรมขั้นสูง มาสร้างเป็นห้องแยกโรคความดันลบ เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ และโรคทางเดินหายใจระหว่างการรักษาผู้ป่วย โดยได้สร้างและส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบ แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งหมด 32 ห้อง และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำแบบไปต่อยอดและผลิตเพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 50 ห้อง”


“สถาบันฯ ได้ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมด้านต่างๆ ออกแบบห้องแยกโรคความดันลบให้เหมาะสมต่อการใช้งานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลมีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่แตกต่างกัน วิศวกรซินโครตรอนสามารถออกแบบห้องความดันลบให้ตรงความต้องการของผู้ใช้งานได้ อีกทั้งมีระบบหมุนเวียนอากาศ เพื่อควบคุมความดันอากาศภายในห้องแยกโรคความดันลบ พร้อมกับระบบกรองอากาศที่ผ่านการตรวจเช็คตามมาตรฐาน เพื่อลดการแพร่เชื้อ ทางอากาศ เพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อีกทั้งยังใช้โครงสร้างที่แข็งแรงและปลอดภัย สามารถประกอบและติดตั้งหรือรื้อถอนได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก” นายสำเริงกล่าว

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้นำหลักการของระบบหมุนเวียนอากาศ ของห้องแยกโรคความดันลบนี้ ไปประยุกต์ใช้เพื่อออกแบบ และสร้าง ห้องแยกโรครูปแบบอื่นๆ ตามความเหมาะสมกับการใช้งานให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ห้องแยกโรคความดันบวก ตู้ตรวจคัดกรองแบบเคลื่อนที่ความดันบวก ตู้ตรวจคัดกรองแบบเคลื่อนที่ความดันลบ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบ รถต้นแบบความดันลบ รวมถึงดัดแปลงรถกระบะติดหลังคาให้เป็นรถต้นแบบความดันลบสำหรับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน นครราชสีมา และมูลนิธิพุทธธรรม-31 จ.นครราชสีมา และวิศวกรยังได้พัฒนาต้นแบบเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองเชื้อโรคขนาดอนุภาคตั้งแต่ 0.3 ไมโครเมตรได้ 99.995% และต้นแบบเครื่องกำเนิดโอโซนฆ่าเชื้อในพื้นที่ปิด สามารถฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ปิดขนาด 30 ลูกบาศก์เมตรได้ภายใน 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้มอบห้องแยกโรคความดันลบแก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลกระสัง โรงพยาบาลห้วยแถลง โรงพยาบาลปากช่องนานา เป็นต้น

ห้องแยกโรคความดันลบยังเป็นผลงานที่สถาบันฯ นำไปร่วมจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ในส่วนนิทรรศการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมหกรรมฯ ดังกล่าว จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

kk6
kk3
kk2

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.