ม.มหิดล แนะ “รวมกลุ่มไทยเที่ยวไทย” สู้วิกฤติอาหาร-พลังงานอย่ามองผ่าน “เมืองรอง”

หลังจากที่ทั่วโลกต้องประสบวิกฤติ COVID-19 จนได้มีการรณรงค์ให้คนไทยทุกคนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในอัตราที่ควบคุมได้ เริ่มมีการใช้ “ชีวิตวิถีใหม่” และเดินทางภายในประเทศกันมากขึ้น 

จนมาถึงวันที่ทั่วโลกต้องประสบกับวิกฤติอาหารและพลังงานเช่นปัจจุบัน แม้การท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ “จังหวัดนครสวรรค์” ซึ่งเปรียบเหมือน “ประตูสู่ภาคเหนือ” พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศให้ได้รับความอบอุ่นและประทับใจกลับไปเสมอ

อาจารย์ ดร.พรพิรัตน์ คันธธาศิริ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรมโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ตามโครงสร้างการท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้กำหนดให้ “เมืองหลัก” ของการท่องเที่ยวไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 22 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานีสมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรีเพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระบุรี นครราชสีมาขอนแก่น เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่พังงา สงขลา และ ภูเก็ต

แม้จังหวัดนครสวรรค์ จะอยู่ในกลุ่ม 55 จังหวัดที่เป็น “เมืองรอง” แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นคืนเศรษฐกิจของชุมชน โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนของจังหวัดนครสวรรค์ จัดทำแผนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสู้วิกฤติอาหารและพลังงานโลก โดยเน้นการท่องเที่ยวแบบรวมกลุ่มในเส้นทางท่องเที่ยวที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวอย่างครบวงจร 

การไปเยือนเมืองรอง แม้จะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ก็นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศที่แตกต่าง โดยผู้มาเยือนจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่จะมุ่งสัมผัสวิถีธรรมชาติ ชื่นชม “บึงบอระเพ็ด” ซึ่งเป็นบึงธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

ด้วยโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ออกแบบขึ้นใหม่นี้ นอกจากการได้ชื่นชมกับวิถีธรรมชาติ “บึงบอระเพ็ด” แล้ว นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชุมชน ผลิตภัณฑ์อาหารขึ้นชื่อต่างๆรวมทั้งของที่ระลึกจากชุมชนนครสวรรค์ให้เลือกสรรกลับบ้านไปด้วยความประทับใจ ภายใต้งบประมาณที่ประหยัดและคุ้มค่า

ซึ่งแผนการจัดการท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์สู้วิกฤติดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงทดลอง ทั้งนี้ได้มีการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเพื่อพัฒนาชุมชน โดยหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล นำองค์ความรู้เรื่อง”นิเวศพื้นถิ่น” ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรม มาสร้างเป็นรายได้ช่วยเหลือชาวชุมชนนครสวรรค์ให้รอดพ้นจากวิกฤติไปได้อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.