“สาธิต” เผยไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ระบุอีก 9 ปี แตะระดับสุดยอด เดินหน้างานดูแลผู้ป่วยประคับประคองเพื่อสร้างสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตทั้งร่างกาย-จิตใจ ช่วยครอบครัวไม่ล้มละลายจากการรักษา ขณะที่ “หมอประสิทธิ์” เปลือยแนวคิด ปลายทางชีวิตต้องมีเป้าหมาย ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นแบบอย่างสังคม
วันนี้ (15 กันยายน 2565 ) ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย 13 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ประกอบด้วย กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สสส. สปสช. สภาการพยาบาล กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กลุ่ม Peaceful Death ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม เยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งในแบบออนไซต์และออนไลน์รวมกว่า 1,400 คน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) และสิทธิที่จะไม่รับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดความตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน ตามบทบัญญัติ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งจะช่วยสร้างสุขภาวะในช่วงระยะท้ายของชีวิตให้กับประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งในส่วนของผู้ป่วย ครอบครัว และในภาพรวมของประเทศ
“แนวคิดการสร้างสุขที่ปลายทาง เกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ปัญหาในระบบสุขภาพของไทยที่มีแนวโน้มอุบัติการณ์โรคร้ายแรงและโรคที่คุกคามต่อชีวิตเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเรากำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในปีนี้ เรามีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 9 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งระบบบริการสุขภาพแบบประคับประคองจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต บำบัด เยียวยาบรรเทาความทุกข์ ทางกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิต โดยให้การดูแลครอบคลุมถึงครอบครัวของผู้ป่วยอีกด้วย
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นประเด็นสำคัญของระบบบริการสุขภาพ จากงานวิจัยประเทศต่างๆ ให้ข้อสรุปตรงกันว่า ค่าใช้จ่ายในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตสามารถทำให้ครอบครัวล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลได้ แต่หากใช้กระบวนการดูแลแบบประคับประคองมาดูแลผู้ป่วย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวให้สูงกว่าการดูแลรักษาแบบปกติ” นายสาธิต กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาระบบ กลไก การบูรณาการร่วมกับนโยบายและแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพ รวมถึงสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสังคมไทย แต่ยังมีข้อท้าทายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพการดูแลแบบประคับประคอง และการรับรู้ของประชาชนเรื่องการวางแผนเตรียมความพร้อมของชีวิตล่วงหน้า และการเลือกการรักษาพยาบาลที่ต้องการหรือไม่ต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตตน ตามเจตนารมณ์ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
“หัวใจสำคัญของมาตรา 12 คือการส่งเสริมคุ้มครองให้เกิดการเข้าถึงสิทธิที่จะรับหรือไม่รับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารนโยบายและองค์ความรู้ให้กลุ่มบุคลากรสาธารณสุขและภาคประชาชน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพื่อการใช้สิทธิด้านสุขภาพของตน ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการบูรณาการและขยายผลการขับเคลื่อนร่วมกันในระยะยาวต่อไป” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปาฐกถาตอนหนึ่งเรื่อง “สร้างพลังใจ สร้างความร่วมมือทางสังคม เพื่อสุขที่ปลายทาง ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ว่า ปลายทางชีวิตของคนเราจะมีความสุขได้ เกิดจากการที่เราได้ทำตามเป้าหมายของชีวิตที่วางเอาไว้สำเร็จแล้ว แต่หากบางคนไม่เคยวางเป้าหมายในชีวิตมาก่อนเลยพอถึงช่วงท้ายๆ ของชีวิตอาจจะไม่ทันได้แต่ตั้งคำถามว่าเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ ทั้งนี้ ตามหลักของมาสโลว์ ระบุว่าคนเรามีลำดับขั้นของความต้องการขั้นที่ 1 คือความต้องการพื้นฐานของชีวิต วัคซีน อาหาร การศึกษา ขั้นที่ 2 ความปลอดภัย สะดวกสบาย ขั้นที่ 3 หาความรัก และขั้นที่ 4 อยากมีชื่อเสียง ตำแหน่ง ฐาน 3-4 คือฐานเดียวกัน เป็นต้น ดังนั้นตนอยากชวนทุกคนวางเป้าหมายในชีวิต ไม่ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นเหล่านี้ก็ได้ แต่กำหนดเป้าหมายเป็นช่วงๆ เมื่อทำเป้าหมายแรกสำเร็จ ก็ตั้งเป้าหมายใหม่ และเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ให้ปัจจัยภายในเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนด ไม่เช่นนั้นจะติดอยู่ในวังวลของกิเลส
“ตัวเรามีผลกระทบกับสังคม และสังคมก็มีผลกระทบกับตัวเรา ดังนั้น เป้าหมายสุดท้ายอยากให้เป็นเป้าหมายที่จำเป็นทำอะไรเพื่อสังคม อย่าคิดว่าเราเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวเรา หากคนหนึ่งคนทำในสิ่งที่ดี เป็นต้นแบบให้กับคนอีกได้ ก็จะขยายต่อไปเป็นโรลโมเดล และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว