สสส.ตอกย้ำพันธกิจ “สร้างนำซ่อม” เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาพคนไทยปี 2566

สสส.ตอกย้ำพันธกิจ “สร้างนำซ่อม” เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาพคนไทยปี 2566 ชูสโลแกน “สานพลังภาคี ร่วมพัฒนานวัตกรรม” รับมือวิกฤติโจทย์ใหม่ๆ ร่วมผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อสุขภาพ มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อม สู่เป้าหมายสูงสุดให้ประชาชนและสังคมไทยมีสุขภาวะที่ดีทุกมิติอย่างยั่งยืน

นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง สสส.กับพันธกิจการสร้างเสริมสุขภาวะคนไทยในปี 2566 ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สสส.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 20,000 ภาคี เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมนำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยมุ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามหลัก “สร้างนำซ่อม” อย่ารอให้ร่างกายเสียแล้วค่อยมาซ่อมสุขภาพ แต่ให้มาสร้างสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อป้องกันโรคและลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในประเด็นสุขภาพที่สำคัญ อาทิ จุดเริ่มต้น สสส.เส้นทางการเปลี่ยนภาษีบาปสู่การสร้างเสริมสุขภาพของไทย สร้างวัฒนธรรมต่อต้านภัยบุหรี่ ลดละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน เป็นต้น

นายสุปรีดา กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุน ผลักดันให้เกิดกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพในหลายเรื่องที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว อาทิ พ.ร.บ.จราจรทางบก นโยบายสวมหมวกนิรภัยทั่วประเทศ นโยบายอาสาตาจราจร มาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากรณีจักรยานยนต์ชนคนข้ามถนนบนทางข้าม เป็นต้น รวมถึงการผลักดันให้เกิดมาตรการด้านมาตรฐานการให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต การดูแลคุณภาพชีวิตคนทำงานในสถานประกอบการภายใต้หลักสูตรเจ้าหน้าที่แรงงานความปลอดภัย แนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล

นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก เช่น ร่างแผนปฏิบัติการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2665-2570 ร่างแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 พ.ศ.2665-2570 ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ..(ฉบับกรมควบคุมโรค) ร่างแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ระยะ 2 (พ.ศ.2561-2580) ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ (พ.ศ…) คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมแลพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ…เป็นต้น

“ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ สสส.ทำถือเป็นความท้าทาย หากย้อนการก่อตั้ง สสส.เนื่องจากภาวะของโลกเปลี่ยนไป ทั้งปัจจัยสังคม สิ่งแวดล้อม จึงต้องใช้หลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน และต้องการวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเก่าที่องค์กรเดิมเอาไม่อยู่ งานนวัตกรรมของ สสส.จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายคือ การมองจุดตีบตันและช่องว่างระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็นและเข้าไปผลักวงจรให้เกิดทั้งหมดต้องการมุมมองของนวัตกรรมเป็นวิธีใหม่ที่เกิดปัญหาเดิม แม้กรระทั่งการสื่อสาร ที่ต้องแก้ด้วยการเห็นร่วมกับสังคม เช่น ออกกติกาสังคมใหม่ ดังนั้นความยากในการทำงานคือการที่เข้าไปยุ่งกับทัศนคติ ความเชื่อ หรือวัฒนธรรมสังคมของคนหมู่มาก เพราะไม่สามารถแก้เป็นรายบุคคลได้ต้องแก้ค่านิยมในสังคม สิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสิ่งไหนดีไม่ดีต่อสุขภาพ จะปล่อยให้เป็นภาระของแพทย์พยาบาลไม่ได้ ต้องปรับแนวคิดให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพตนเอง และช่วยกันสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน”

นายสุปรีดา กล่าวว่า ในวาระปี 2566 นี้ สสส.ได้มีการกำหนดเป้าหมายการสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพดีอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยการสรุปบทเรียนความท้าทายจากการทำงานสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ที่ สสส.ได้ริเริ่มและยึดเป็นแนวทางการดำเนินงานตลอดที่ผ่านมา รวมถึงการศึกษาแนวโน้มและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในมิติต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และเทคโนโลยี รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรม เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในการตอบโจทย์กับการสร้างเสริมสุขภาพและสถานการณ์ในปัจจุบันดังสโลแกนในโลโก้ใหม่ของ สสส. “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข” ส่วนกลไกสำคัญที่แก้ไขต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนไทยคือการสร้าง นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นแนวคิดและสิ่งประดิษฐ์ที่ผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้เกิดผลงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ การมีสภาพการดี สุขภาพจิตดี สุขภาวะทางปัญญาดี และมีสังคมที่ดี

“ความท้าทายของ สสส.คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยทุกมิติ เพื่อเป็นการเติมช่องว่าง ในการจัดการกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดปัจจัยเสี่ยง ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้ลดลง รับมือกับวิกฤติโจทย์ใหม่ๆ การสร้างนวัตกรรม จาการร่วมมือทำงานกับภาคีเครือข่ายที่แข็งแรง เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะในประเทศไทยอย่างยั่งยืน สำหรับก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า สสส.ยังคงเป้าหมายเดิมในการส่งเสริมค่านิยมและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เพียงแต่เปลี่ยนวิธีเชิงรุกตรงหากลุ่มเป้าหมายจากการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพดิจิทัลโดยใช้ AI ช่วยเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันที่พบภัยคุกคามสุขภาพจากดิจิทัลโลกเสมือนมากขึ้น” ผู้จัดการ สสส.กล่าว

ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายสูงสุดของการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.คือ ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดี สมบูรณ์พร้อมทั้ง 4 มิติ ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ต้องการให้ ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี และพันธกิจ จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี ส่วนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายยังมุ่งเน้นการทำงานสุขภาพที่มีความสำคัญต่อเนื่อง แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสภาวะปัญหาหรือสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปรับมือโจทย์ใหม่ๆ ที่มีความท้าทาย เน้นสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพตนเองและลดความเลื่อมล้ำทางสุขภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ประเทศต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.