เนคเทค สวทช.ผนึกพันธมิตรจัดงานวันรวมพลคน KidBright ครั้งที่ 4

เนคเทค สวทช. ผนึกพันธมิตรจัดงานวันรวมพลคน KidBright ครั้งที่ 4 หวังชู “KidBright” เป็นแพลตฟอร์มการศึกษา เตรียมพร้อมเยาวชนไทยสู่พลเมืองดิจิทัล

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงานวันรวมพลคน KidBright (KidBright Developer Conference 2023 : KDC23) ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “KidBright at Home : อยู่ที่ไหน ก็เรียนรู้ได้” มุ่งสนับสนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาอย่างไร้ข้อจำกัด เพื่อเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ควบคู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย ต่อยอดไปสู่การเป็นนวัตกร ผ่าน KidBright Education Platform

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า KidBright Education Platform มีทั้ง บอร์ดส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งและสะเต็ม เว็บแอปพลิเคชันสอนวิทยาการข้อมูล และแพลตฟอร์มสอนด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) คิดค้น และพัฒนาขึ้น ได้แสดงให้เห็นถึงการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการส่งเสริมภาคการศึกษา ตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ ของกระทรวงฯ อันได้แก่  (1) การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้  (2) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของสังคม (3) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน  (4) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

KidBright ได้พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ในลักษณะการเรียนรู้แบบ Learn and Playที่ทำให้เด็กมีแรงจูงใจ เกิดความสนใจอยากเรียนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้สนุกกับการฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ ควบคู่ไปกับสร้างสรรค์จินตนาการ เชื่อมโยงองค์ความรู้ ประดิษฐ์คิดค้นเป็นผลงานสร้างสรรค์ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพ และทักษะที่จำเป็นอื่น ๆ ในการก้าวสู่พลเมืองในยุคดิจิทัล ต่อยอดไปสู่การเป็นนวัตกร นักพัฒนา เป็นกำลังบุคลากรที่สำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต

KidBright บอร์ดสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่พัฒนาโดย เนคเทค สวทช. ซึ่งได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้น ด้วยความมุ่งหวังอยากให้เด็กไทยมีอุปกรณ์การเรียนโค้ดดิ้งอย่างง่าย โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมาในปี 2560 – 2561  โครงการฯ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลภายใต้โครงการ Big Rock เพื่อการพัฒนาประเทศ  จึงได้ผลิตและกระจายบอร์ด KidBright จำนวน 200,000 บอร์ด ไปสู่การใช้งานในโรงเรียนกว่า 2,200 แห่งทั่วประเทศ ตอบรับกับกระแสการเรียนการสอนด้าน STEM Education ของประเทศไทย

จากนั้นทีมวิจัย ได้ขยายผลความสามารถของ KidBright Platform อย่างต่อเนื่อง  เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างองค์ความรู้พัฒนาทักษะกระบวนการคิดเชิงตรรกะ ร่วมกับการใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงาน   ผ่านโครงการต่างๆ ประกอบด้วย (1) โครงการสอนโค้ดดิ้งในโรงเรียน (Coding at School) (2) โครงการสอนวิทยาการข้อมูลในโรงเรียน (Data Science at School) (3) โครงการสอนปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน (AI at School) และยังรวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ  ได้แก่ การอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ครู/ อาจารย์ กลุ่มนักพัฒนา, จัดเวทีประกวดแข่งขันในกลุ่มนักเรียน เปิดโอกาสให้ได้ประลองความรู้ความสามารถ  

การจัดงาน “วันรวมพลคน KidBright หรือ KidBright Developer Conference : KDC) จึงถือเป็นเวทีในการรายงานผลความก้าวหน้า เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดจากการขยายผลความสามารถของ KidBright Platform เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานของนักเรียน กลุ่มนักพัฒนา เครือข่ายหน่วยงานด้านการศึกษาที่ได้นำ KidBright Platform ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ในแต่ละปีก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไปให้สอดคล้องตามทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีของ KidBright  ซึ่งจากสถานการณ์การโรคระบาดโควิด – 19 ทําให้รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบ Online แนวทางการเรียนรู้ไม่ได้จํากัดอยู่เพียงแต่ในห้องเรียน

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวถึง  ผลความสำเร็จ ของการพัฒนา Education Platform ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึงปัจจุบัน  ได้จัดอบรมความรู้ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง สร้างบุคลากรจากกิจกรรมเทรนเดอะเทรนเนอร์ ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ผ่านการอบรม KidBright Coding จำนวน 2,815 คน  KidBright Data Science  จำนวน 1,541 คน   KidBright AI จำนวน 1,910 คน  อบรมครูในพื้นที่ EEC จำนวน 1,957 คน ร่วมกับพันธมิตรจัดอบรมในหัวข้อต่างๆ จำนวน 1,820 คน เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรมบอร์ดสมองกลฝังตัวจากการนำ KidBright ไปพัฒนาขยายความสามารถ สร้างผลกระทบให้กับประเทศไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท เช่น ส่งเสริมความเข้มแข็งเอกชน บริษัทเอกชนนำผลงานไปผลิตเชิงพาณิชย์จำนวน 2 ราย พันธมิตรร่วมจัดทำ Plugins เพื่อใช้งานกับบอร์ด KidBright มากกว่า 25 Plugins ลดความเลื่อมล้ำอบรมโค้ดดิ้งให้กับกลุ่มโรงเรียนคนพิการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชต.) และ เกาะแก่ง คิดเป็น 5% ของโรงเรียนที่ได้รับบอร์ด สร้างความตระหนักให้เกิดการเรียนเทคโนโลยีในเยาวชน เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีผ่าน KidBright Platform จากสถิติการเข้าเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ 530,000 ครั้ง  

 นอกจากนี้ ได้พัฒนาองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ โดยร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาของประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการจัดทำแผนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณด้วยบอร์ด KidBright ในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 และคู่มือหลักสูตร Coding, Data Science, AI ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนนำคู่มือไปใช้ในการเรียนการสอนเป็นจำนวนมาก จากยอดการดาวน์โหลดหนังสือ 14,347 ครั้ง และคู่มือสอน 16,809 ครั้ง  มีพันธมิตรร่วมจัดทำวิดีโอสอนการใข้งาน จำนวน 5 แหล่ง  มียอดเข้าชมวิดีโอแนะนำความรู้ จำนวน 462,737 ครั้ง

ความพิเศษของการจัดงานในปีนี้ นำเสนอภายใต้แนวคิด “KidBright at Home : อยู่ที่ไหน ก็เรียนรู้ได้” โดยเป็นการเปิดตัวแพลตฟอร์ม KidBright Series at Home ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้โรงเรียน คุณครู นักเรียน และผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ก็สามารถเรียนรู้ได้ โดยผ่านเว็บไซต์ https://www.kid-bright.org/ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ KidBright Series at Home ประกอบด้วย

  • KidBright Coding Simulator ได้เพิ่ม Feature ต่าง ๆ เช่น ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented reality) ในการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริง เพื่อเสริมจินตนาการให้การเรียนรู้น่าสนใจยิ่งขึ้น 
  • KidBright AI Web และ Simulator ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน โดยสามารถนำเข้าภาพและเสียงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ และแสดงผลผ่าน AI simulator

และอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานรวมพลคน KidBright ในปีนี้ กับครั้งแรกในการจัดกิจกรรมการแข่งขัน KidBright Coding & AI Simulator รอบชิงชนะเลิศ Online เต็มรูปแบบ ซึ่งมีนักเรียนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วม 300 ทีม คิดเป็นจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 900 คน  โดยมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 12 ทีม และมีโรงเรียนลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมเป็นกองเชียร์แบบ Online ในวันนี้ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน จาก 100 โรงเรียนทั่วประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีในส่วนการจัดนิทรรศการแสดงผลงานจากกลุ่ม KidBright Community ที่ได้นำ KidBright Platform ไปขยายผลการใช้งาน ได้แก่ โรงเรียนที่เข้ากิจกรรมการประกวดแข่งขันในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา, ผู้ประกอบการภาคเอกชน และ Maker ประกอบด้วย KidBright UtuNoi by EEC, KidBright Forecasting with GLOBE, KidBright Onstage, HomeSchool Network และ Co-Founder CoderDojo Thailand, สื่อการเรียนการสอน จาก บริษัท inex, ชมรมเมกเกอร์คลับ เชียงใหม่ และ สมาคม IoT, โครงการสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่พัฒนาโดยกลุ่มโรงเรียนโสตศึกษา และผลงานวิจัยจากกลุ่ม KidBright  

การจัดงานในครั้งนี้ เนคเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สนับสนุนเครือข่ายโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรม, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมจัดทำคู่มือสอนเทคโนโลยี, ชมรมเมกเกอร์คลับ เชียงใหม่ ร่วมพัฒนา KidBright AI web version และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนได้เข้าร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “การพัฒนา KidBright Coding & AI Web Simulator” และ “การขับเคลื่อนและการพัฒนาหลักสูตร KidBright Education Platform”

“KidBright จะไม่ได้เป็นเพียงแค่บอร์ดสมองกลอีกต่อไป แต่จะก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มการศึกษา(Education Platform) ของประเทศที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนของเด็กไทย ในการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตทางด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น ทั้งในด้านการเขียนโค้ดดิ้ง ทักษะด้านวิทยากรข้อมูล วิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูล ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ และทักษะที่จำเป็นอื่น ๆ  และที่มากไปกว่านั้น คือ เป็นแพลตฟอร์มการศึกษา ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกคนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ สามารถเข้ามาเรียนรู้ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการเข้าถึงความรู้ เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาตนเองได้อย่างเท่าเทียมกัน” ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. กล่าวทิ้งท้าย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.