ระดมผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก ถก พัฒนาพื้นที่นำร่อง “สุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ” เพื่อช่วยคนไทยให้มีอายุยืน สุขภาพดี และมีความสุข” ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ ICGW 2023
สถาบันการสร้างชาตินานาชาติ (Nation-Building Institute International (NBII)) และองค์กรพันธมิตรระดับโลก ร่วมจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ 2566 (The International Conference on GoldenZone Wellness (ICGW) 2023) ในหัวข้อ “การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อสุขสภาพ” (Human-Centred Development for Wellness) ในวันที่ 23 มิ.ย. 2566 โดยมีผู้นำ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้สนใจจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน ทั้งในระบบออนไซต์ และออนไลน์
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเพื่อการระดมความเห็นและนำเสนอผลงานวิชาการล่าสุดจากนานาชาติ เกี่ยวกับการสร้างสุขสภาพของมนุษย์ ผ่านกระบวนการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาระบบ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาขีดความสามารถ และการพัฒนาบริบท โดยมุ่งผลลัพธ์การพัฒนาที่ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาว สุขภาพดี และมีความสุข การประชุม ICGW 2023 ได้รับเกียรติจากผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ร่วมกล่าวปาฐกถา อาทิ ฯพณฯ อนุทิน ชาญวีรกูล, ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน, ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ศ.ดร.ซาวาธอว์เร่ ดิ ซอมมา, ศ.ดร.ดาวิด เบรนเนอร์, ศ.ดร.โอเลล มีแลนเดอร์, ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์, ดาโต๊ะ ดร.เจสซี่ ถัง, พญ.กัลยรัตน์ สุข เรือง และรศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์
โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Human-Centred Development for Wellness” ในงานประชุมครั้งนี้ว่า สุขสภาพ หรือ wellness ควรเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ เพราะมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และการพัฒนาควรมีเป้าหมายเพื่อทำให้มนุษย์มีชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข อย่างไรก็ดี สุขสภาพไม่ใช่เรื่องความแข็งแรงของมนุษย์เท่านั้น แต่ครอบคลุมเรื่องภายนอกที่มีผลกระทบต่อสภาพกาย ใจ และจิตของมนุษย์ด้วย ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาสุขสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย การสร้างสุขสภาพจึงไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของภาพรวมด้วย
“สถานการณ์การพัฒนาในปัจจุบัน ยังเป็นแนวทางการพัฒนาแบบแยกส่วน และมุ่งเป้าหมายที่ไม่ครบถ้วนและไม่สมดุล ตัวอย่างเช่น ระบบบริการสุขภาพทั่วโลกยังเน้นการรักษามากกว่าการป้องกัน และทำการรักษาแบบแยกส่วนตามความเชี่ยวชาญ ขาดการบูรณาการภายในระบบสุขภาพด้วยกันเองมากพอ และยังขาดความร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการดูแลสุขสภาพแบบเป็นองค์รวม เช่นเดียวกับระบบการศึกษา ระบบการเมือง และระบบอื่น ๆ ที่มีลักษณะแยกส่วนและพัฒนาอย่างขาดความสมดุลเช่นกัน”
“สถาบันการสร้างชาติได้ริเริ่มงาน หลายด้าน ทั้งการเผยแพร่วิสัยทัศน์ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงสุขสภาพโลก การวิจัยด้านสุขสภาพโดยการริเริ่ม “โครงการวิจัย ศึกษาและพัฒนาพื้นที่นำร่อง “สุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ” เพื่อช่วยคนไทยให้มีอายุยืน สุขภาพดี และมีความสุข การพัฒนาคนผ่านหลักสูตรผู้ประกอบการ Wellness เพื่อการสร้างชาติ การจัดการประกวด Miss Wellness World Thailand เพื่อสร้างความตระหนักด้านสุขสภาพ และโครงการอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อมั่นว่าความพยายามของเราจะส่งผลในการขับเคลื่อนการพัฒนาและความร่วมมือ เพื่อทำให้คนไทยอายุยืน สุขสภาพดีและมีความสุข” ดร.แดน กล่าวสรุป