สทน. ประสบผลสำเร็จทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 สร้างกระแสพลาสมาอุณหภูมิสูง 1 แสนองศาเซลเซียส เป็นเวลา 100 มิลลิวินาที พร้อมวิจัยพัฒนาให้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในอนาคต เล็งพัฒนาเครื่องโทคาแมค2 ไทยทำเองภายใน 10 ปี
5 ก.ค.66 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ สทน.จัดกิจกรรมพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่สทน. สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก พร้อมรับฟังบรรยายถึงการปฏิบัติงานจัดเก็บกากกัมมันตรังสีและเยี่ยมชมโรงเก็บกากกัมมันตรังสี รวมถึงรับฟังความก้าวหน้าในการพัฒนาเครื่องโทคาแมคของประเทศไทยและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและเครื่องทาโคแมค ซึ่งสทน. ประสบผลสำเร็จทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 สร้างกระแสพลาสมาอุณหภูมิสูง 1 แสนองศาเซลเซียส เป็นเวลา 100 มิลลิวินาที พร้อมเปิดเดินเครื่องอย่างเป็นทางการ 25 กรกฎาคม 2566 นี้ เดินหน้าวิจัยพัฒนาให้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในอนาคต
ทั้งนี้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) หรือ สถาบัน : ASIPP ในการรับมอบเครื่องโทคาแมคจากประเทศจีนนำมาใช้ศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นเพื่อสร้างให้เกิดพลาสมาอุณหภูมิสูง อันเป็นการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ “ฟิวชัน” ซึ่งเกิดตามธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ให้เกิดขึ้นบนโลก เพื่อใช้ศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูงในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและฟิวชันซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสําหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และนวัตกรรมที่ได้สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ นอกจากนี้จากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทําให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยในอนาคตได้อีกด้วย
โดยเครื่องโทคาแมคที่ได้รับมอบจากสถาบัน ASIPP ได้ส่งมาถึงท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 และ สทน. ได้ดำเนินการขนย้ายจากท่าเรือแหลมฉบังมายัง สทน. เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2566 เพื่อติดตั้งในอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทยเครื่องนี้จะมีชื่อว่า “ไทยโทคาแมค-1 (TT-1)” หลังจากติดตั้งเครื่องโทคาแมคเรียบร้อยแล้ว สทน. ได้ทดลองเดินเครื่องปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ สทน. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มติดตั้งเครื่อง ไทยโทคาแมค1- การดำเนินการติดตั้งเป็นไปตามแผนงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและทีมวิศวกรจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ จากประเทศจีน ร่วมด้วยทีมงานจาก ศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง ของ สทน. และทีมวิศวกรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยช่วงแรกทีมงานร่วมกันประกอบชิ้นส่วนของเครื่องเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงดำเนินการเกี่ยวกับระบบ power supply ปัจจุบันการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนแล้วเสร็จเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงเป็นการปรับแต่งและทดสอบการเดินเครื่อง และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 17 ปีการจัดตั้ง สทน. ทางคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง นำโดย Prof. Luo Jiarong ทีมวิศวกรจากทั้ง สทน. และ กฟผ. ได้ทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 กระตุ้นให้ก๊าซไฮโดรเจนแตกตัว กระทั่งเข้าสู่สถานะพลาสมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรก สามารถสร้างกระแสพลาสมา 2,200 แอมแปร์ เป็นระยะเวลานานประมาณ 5 มิลลิวินาที จึงนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยมีทีมงานจาก กฟผ. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทย ร่วมสังเกตการณ์
หลังจากการเดินเครื่องสำเร็จครั้งแรกทีมงานของ สทน. ได้ทดลองเดินเครื่องอย่างต่อเนื่อง ซื่งปัจจุบันเครื่องไทยโทคาแมค-1 สามารถเดินเครื่องได้นานสูงสุดถึง 100 มิลลิวินาที โดยผลิตพลาสมาอุณหภูมิสูงราว 1 แสนองศาเซลเซียส ซึ่งเครื่องไทยโทคาแมค-1 นี้จะเปิดเดินเครื่องเป็นทางการในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นี้
เนื่องจากเทคโนโลยีพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย การจัดเตรียมหาบุคลากรเพื่อมารองรับจึงเป็นเรื่องสำคัญ สทน. จึงได้ร่วมกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งจากประเทศจีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และหน่วยงานเครือข่ายในประเทศ จัดอบรมความรู้ให้ความรู้ด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อเป็นการเตรียมตัวนักวิจัย หรือบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรม สำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยกระดับการเป็น ศูนย์กลางการประสานงานของภูมิภาคในด้านพลาสมาและฟิวชันของประเทศไทย สทน. ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 10 ปีจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเอง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ โครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมค สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2560
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) หรือ สถาบัน : ASIPP ในการรับมอบเครื่องโทคาแมคจากประเทศจีนนำมาใช้ศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นเพื่อสร้างให้เกิดพลาสมาอุณหภูมิสูง ซึ่งเป็นการจำลองปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชันซึ่งเกิดตามธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ให้เกิดขึ้นบนโลก เพื่อใช้ศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูงในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและฟิวชันซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสําหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และนวัตกรรมที่ได้สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ ซึ่งจากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทําให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยในอนาคตได้อีกด้วย
สำหรับเครื่องโทคาแมค เป็นเครื่องควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาฟิวชัน เลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูงโดยใช้สนามแม่เหล็กซึ่งปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศกว่า 20 มหาวิทยาลัย ร่วมพัฒนาเครื่องโทคาแมคและระบบประกอบ การวิจัยนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดในอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนที่กำลังจะเกิดขึ้นและเพื่ออนาคตที่ดีของคนไทย
15 กรกฎาคม 2561
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จร่วมพิธีเป็นองค์สักขีพยานในพิธีรับมอบชิ้นส่วนของเครื่องโทคาแมค HT-6M คือห้องสุญญากาศและขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้า ที่สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้กับ สทน. เครื่องโทคาแมค HT-6M ซึ่งเป็นเครื่องโทคาแมครุ่นที่ 2 ที่ ASIPP โทคาแมค HT-6M เครื่องนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมาที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในประเทศไทยหลังจากได้รับเครื่องโทคาแมคแล้ว สทน. มีแผนการหลังการรับมอบเครื่องประกอบด้วย 3 ระยะได้แก่
ระยะแรก เป็นการถอดแบบและศึกษาองค์ประกอบของเครื่องโทคาแมคและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ รวมถึงการก่อสร้างอาคาร เพื่อเตรียมการติดตั้งเครื่องโทคาแมค
ระยะที่ 2 สทน.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมร่วมออกแบบและพัฒนาระบบต่างๆของเครื่องโทคาแมค และประกอบเครื่องจนสามารถเดินเครื่องได้
ระยะที่ 3 เป็นการย้ายเครื่องกลับมาประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
24 เมษายน 2562
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ในวันที่ 24 เมษายน 2562 ซึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาทั้งระบบสนับสนุนและการพัฒนาบุคลากร รวมเป็นเงินสองร้อยกว่าล้านบาท สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของไทย
27 พฤศจิกายน 2563
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างอาคารสำหรับติดตั้งเครื่องโทคาแมค ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก อาคารดังกล่าวใช้งบประมาณสำหรับการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโทคาแมคประมาณ 46 ล้านบาท เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 ชั้น แบ่งเป็นส่วนสำนักงานและส่วนปฏิบัติการ โดยส่วนปฏิบัติการ มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 670 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ปฏิบัติการสำหรับติดตั้งเครื่องโทคาแมค และพื้นที่สำหรับระบบสนับสนุนของเครื่องโทคาแมค ซึ่งปัจจุบันอาคารได้ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว
7 มิถุนายน 2564
สทน. ได้ลงนามร่วมกับ ASIPP เพื่อร่วมพัฒนาระบบสนับสนุนต่างที่ประเทศจีน สำหรับรายละเอียดการร่วมมือพัฒนาในครั้งนี้ประกอบด้วยระบบสนับสนุนเครื่องโทคาแมคสี่ระบบคือ
1) ระบบจ่ายไฟฟ้าแรงสูง (Power Supply system)
2) ระบบสุญญากาศ (Vacuum system)
3) ระบบควบคุมและประมวลสัญญาณ (Control and Data Acquisition System: DAQ)
4) ระบบวัดพลาสมา (Diagnostics system)
โดยจะมีการพัฒนาระบบเหล่านี้ขึ้นมาใหม่เพื่อประกอบกับห้องสุญญากาศและขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทาง ASIPP ได้มอบให้ประเทศไทย โดย สทน.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งเครื่องโทคาแมคของประเทศไทย หรือ Thailand Tokamak 1 (TT-1) จะเป็นเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการพัฒนาขึ้นโดยเจ้าหน้าที่และนักวิจัยจาก สทน. คณะทำงานเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยในประเทศกว่า 20 แห่ง และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณและเข้าร่วมพัฒนาและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เมื่อดำเนินการจนเครื่องสามารถทำงานได้แล้วที่จีน ทาง ASIPP จะทำการถอดประกอบและขนส่งมาติดตั้งอีกครั้ง ณ สทน. สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
11 มิถุนายน 2565
ไทยส่งวิศวกรและนักวิจัยจำนวน 2 กลุ่มรวม 9 คน จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 5 คน และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 4 คน เมื่อเดินทางถึงสถาบัน ASIPP ทีมงานทั้งหมดได้เริ่มการฝึกอบรมภาคทฤษฎีเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์และต่อด้วยการฝึกภาคปฏิบัติ จนกระทั่งวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ทางสถาบัน ASIPP ได้ให้ทีมวิศวกรของไทยเริ่มเดินเครื่องเองเป็นครั้งแรกโดยมีเจ้าหน้าที่ของ ASIPP คอยสังเกตการณ์และควบคุม ซึ่งเมื่อตรวจสอบต่างๆเรียบร้อย และเริ่มทดลองเดินเครื่องสามารถจุดพลาสมาได้เป็นครั้งแรก ซึ่งทีมวิศวกรของไทยได้ฝึกภาคปฏิบัติและการเดินเครื่องอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2565 ทาง ASIPP ได้ทำการถอดชิ้นส่วนเครื่อง ไทยโทคาแมค-1 เพื่อจัดการส่งมายังประเทศไทย ในเดือนกันยายน 2565 ก่อนที่จะทำการขนส่งมาติดตั้ง ณ สทน. องครักษ์ต่อไป
28 มกราคม 2566
เครื่องโทคาแมคเดินทางออกจากท่าเรือในปะเทศจีน ถึงท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 ซึ่งประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหลัก 462 ชิ้น มีน้ำหนักมากกว่า 84 ตัน บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 6 ตู้ และ สทน. ได้ดำเนินการขนย้ายจากท่าเรือแหลมฉบังมายัง สทน. เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2566 เพื่อติดตั้งในอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานใหญ่ อ. องครักษ์ จ.นครนายก เครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทยเครื่องนี้จะมีชื่อว่า ไทยโทคาแมค-1 (TT-1)
กุมภาพันธ์ 2566
การประกอบตัวเครื่องโทคาแมคที่ดำเนินการโดยวิศวกรชาวไทย ร่วมกับทีมวิศวกรจาก ASIPP ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากการติดตั้งเครื่องโทคาแมคเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการทดลองเดินเครื่องโทคาแมค – 1 เป็นผลสำเร็จ ได้พลาสมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 การพัฒนาเครื่องโทคาแมคจะดำเนินการในไทยจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และภายใน 10 ปีจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเอง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี