สุดยิ่งใหญ่สร้างนวัตกรรมสู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนแห่งปี 2566 สสส.สานพลังภาคีเครือข่ายกว่า 500 ตำบลทั่วประเทศ ปลุกพลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ ขับเคลื่อนผู้นำชุมชน-ผลักดันนโยบายครอบคลุม สู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน
วันที่ 7 ก.ค.2566 ที่ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดงาน เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวว่า ชื่นชม สสส. ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันจัดเวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ขึ้นเป็นปีที่ 12 นับเป็นพลังสำคัญสำหรับการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน ด้วยการเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับเครือข่าย ระดับประเทศ ระดับนานาชาติ
เชื่อมั่นว่าเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่มีสมาชิกกว่า 500 ตำบล จนเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ วิถีปฏิบัติ มุ่งใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา ให้สุขภาวะชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของทุกนโยบาย 1. สร้างการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ให้ประเทศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำเชิงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน 2. สร้างสังคมสุขภาวะให้กับชุมชน ด้วยภาคีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ท้องถิ่น ท้องที่ รพ.สต. อสม. ผู้นำชุมชน และ 3. สร้างการมีส่วนร่วมด้วยการระดมทรัพยากร เพื่อสร้างสุขภาวะท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศอย่างยั่งยืน
ดร.สาธิต กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพตลอด 20 ปี สร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี เวทีนี้เป็นพลังของการใช้ศักยภาพชุมชนท้องถิ่น มุ่งสนับสนุนกลไกให้เกิด ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ใน 6 ปัจจัยสำคัญ 1. ผู้นำมีทักษะ สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 2. กลไกขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ 3. นโยบายสาธารณะ และมาตรการทางสังคม สามารถสร้างรูปธรรมแสดงถึงความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 4. แนวทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม และมีคุณภาพ 5. ระบบข้อมูล เครื่องมือทางวิชาการที่มีคุณภาพ และ 6. ระบบบริการสาธารณะครอบคลุม เข้าถึง และมีคุณภาพ เพื่อทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2554 สสส. ได้จัดเวทีครั้งแรกในชื่อว่า เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นทิศทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตำบลแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ 1. สานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชน ท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ 2. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิบัติการสุขภาวะชุมชนสู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ 3. ขยายผลแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานที่เป็นอัตลักษณ์ในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน
“ปี 2566 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ยังคงยึดหลักการใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาและให้ทุกนโยบายเพื่อสุขภาวะ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ (กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ มาเป็นฐานสำคัญมุ่งสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาต่อไป สู่การสานพลัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายผล ชี้นำการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนสู่การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในระยะ 10 ปี พ.ศ.2565-2574 และเป้าหมายสำคัญของชุมชนท้องถิ่นต่อไป ตอบโจทย์ประเทศสร้างสุขภาวะของประชาชนอย่างครอบคลุม” ดร. สุปรีดา กล่าว