วันนี้ (24 พฤษภาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนา TSRI Talk ในหัวข้อ “บทบาทการวิจัยและนวัตกรรมในการปกป้องความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ : ช่องว่างและการเติมเต็ม ” โดยเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญร่วมวิเคราะห์สถานการณ์องค์ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน เตรียมวางแผนบริหารจัดการทุนวิจัย เพื่อให้เกิดความมั่นคง และสมดุลด้านทรัพยากร ธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
โอกาสนี้ รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ผู้อำนวยการ SAT ด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเป็นประเด็นวิกฤตที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกทำลายโดยมนุษย์เป็นหลัก โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 มนุษย์มีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรทางชีวภาพ เพื่อตอบสนองต่อกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไปผลักดันให้เกิดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพให้สูญเสียไปอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ระบบนิเวศ และทรัพยากรชีวภาพ อันเป็นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อย่างไรก็ดี ความเสื่อมโทรมและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จำนวนการสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติ การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนความหลากหลายของระบบนิเวศ ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนยากไร้และคนชายขอบ
จากฐาน ข้อมูลเพื่อรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ผืนป่าในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก ร้อยละ 53.33 ในปี 2504 ลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 31.58 ในปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่า ถิ่นอาศัยของพืชหลายแห่งในประเทศไทยลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายกิจกรรม เช่น การทำลายพื้นที่ป่า การเกษตร การท่องเที่ยว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก จึงมีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง อาจมีพืชอย่างน้อย 60,000 ชนิด ที่จะสูญพันธุ์ภายใน 50 ปี ข้างหน้า
นอกจากนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศ จากการที่ประเทศไทยมีพันธกรณีของภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ส่งผลให้ประเทศไทยต้องติดตามสถานการณ์การลดลงของชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศของประเทศ มุ่งเน้นให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม อีกทั้งความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นประเด็นที่กำหนดไว้ในนโยบายและแผนระดับประเทศอย่างชัดเจน ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงแผนระดับประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 และแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 โดยมีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นลดผลกระทบ และดูแลรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ ให้ความสำคัญต่อการสร้างมูลค่าจากฐานทรัพยากรชีวภาพ เกษตรชีวภาพและอุตสาหกรรมชีวภาพพร้อมปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการ และพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานในระดับต่าง ๆ
นอกจากนี้ พบว่ามีการนำประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพไปผนวกในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด และข้อบัญญัติท้องถิ่นบางแห่ง ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในทุกระดับจึงมุ่งเน้นการดำเนินงานในเรื่องการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ การบูรณการองค์ความรู้ การสร้างคุณค่า ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิและแบ่งปันผล ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความยั่งยืน
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดตั้งกลไกสนับสนุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการให้ความรู้ การจัดกิจกรรม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น เช่น กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Siamensis และ Save Wildlife Thailand รวมถึงมหาวิทยาลัยและชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานมีการผลิตองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี หลากภาคส่วนในประเทศไทยยังมีองค์ความรู้และความเข้าใจถึงการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืนไม่มากนัก และการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันในทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังมีไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุดังกล่าวการผลิตองค์ความรู้และนวัตกรรมในด้านการปกป้องความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่มีรูปธรรมและชัดเจน จะต้องมีการออกแบบการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดเวทีเสวนาครั้งนี้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์องค์ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญและโอกาสการหนุนเสริมจากระบบ ววน. ช่องว่างของงานวิจัย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ และผู้แทนภาควิชาการ/ภาคประชาสังคม อันจะนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการทุนวิจัย เพื่อให้เกิดความมั่นคง และสมดุลด้านทรัพยากร ธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย