สกสว.ระดมสมองรับมือภัยพิบัติ​ แก้ปัญหาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม

สกสว.เปิดเวทีระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งจัดการความเสี่ยงเชิงพื้นที่แบบองค์รวมและปฏิรูปการจัดการสิ่งแวดล้อมหลังโควิด ดึงอปท.และเอกชนเข้าร่วม สร้างกำลังคนและถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566-2570 ด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีนักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยบริหารและจัดการทุน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และมี รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน 

ทั้งนี้ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2565 ฉบับปรับปรุง สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในแผนงาน “การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม” และโปรแกรมการแก้ไขปัญหาท้าทายและยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรม​ชาติสิ่งแวดล้อม และการเกษตร โดยใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรม จัดการกับปัญหาท้าทายและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่แผนแม่บทหลังโควิด-19 ระบุให้มีการเสริมสร้างความมั่นคงและบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรองรับภัยพิบัติ เหตุการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้ง ตลอดจนสาธารณภัยทุกรูปแบบ ด้วยการใช้ฐานข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรม การบูรณาการระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินให้มีเอกภาพและรองรับสาธารณภัยรูปแบบใหม่ในทุกมิติ เช่นเดียวกับกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ใช้ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย เสนอแนะให้ใช้เทคนิคใหม่ ๆ เช่น การสร้างสถานการณ์จำลองผ่านการทำ Catastrophe Model (CAT model) ระดับชาติ ซึ่งเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ โดยมีผู้เสนอแนะให้จัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) พื้นที่เพื่อเป็นฐานข้อมูลความเสี่ยง และข้อมูลความล่อแหลม (Exposure Data) เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีข้อมูลเชิงปริมาณที่ทำให้เห็นฉากทัศน์และการแก้ไขปัญหาที่เกิดผลกระทบ พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบด้วย ขณะที่ ผศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีระบบคลังข้อมูลสาธารณภัยอยู่แล้ว จึงอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจังหวัดต่าง ๆ ร่วมจัดทำข้อมูลแต่ละพื้นที่ และเปิดพื้นที่ทดสอบ (sandbox) เพื่อวางระบบการบริหารจัดการในพื้นที่ให้สอดคล้องกับงบประมาณด้านสาธารณภัย 

สิ่งสำคัญของการจัดการภัยพิบัติ คือ ต้องมีระบบเตือนภัยเพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสียหาย ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงไปยังกระทรวงมหาดไทยและชุมชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการ รวมถึงมีการวิจัยเชิงปฏิบัติการระหว่างเครือข่ายนักวิชาการ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ หน่วยงานที่มีโมเดลกลาง และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยกันสำรวจและศึกษาเจาะลึกภัยพิบัติแต่ละประเภท เพื่อสร้างองค์ความรู้และขับเคลื่อนความรู้สู่การปฏิบัติโดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ออกแบบการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ และใช้เป็นโมเดลในการกำหนดนโยบายของภาครัฐเพื่อการตัดสินใจแก้ปัญหาในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผ่นดินไหว ตลอดจนการผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายร่วมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการปลดล็อคระเบียบหรือกฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาภัยพิบัติเชิงรุกและสร้างแนวทางป้องกัน

ที่ประชุมเห็นว่าปัจจุบันยังมองไม่เห็นองคาพยพหรือระบบนิเวศของภัยพิบัติ ยังเป็นการแก้ไขปัญหาและเจาะเฉพาะเป็นเรื่อง ๆ ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้นจึงต้องเพิ่มงานวิจัยที่เชื่อมโยงภัยพิบัติเชิงพื้นที่แบบองค์รวมและเชิงป้องกันมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจภาพทั้งหมดถึงสาเหตุและนำไปสู่การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การป้องกันหรือเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศอย่างจริงจังจะต้องตอบโจทย์ทางการเมืองด้วย โดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และบูรณาการงานด้านสังคมศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ความร่วมมือกับต่างประเทศ และสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการแก้ปัญหา ตั้งรับ และนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่

นอกจากการสร้างความรู้แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่าจำเป็นจะต้องพัฒนากำลังคน ทั้งนักวิจัย ชุมชน และประชาชน การจัดทำหลักสูตรการเรียน การปฏิรูประบบการบริหารจัดการของหน่วยงานต่าง ๆ  เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวของประชาชนเพื่อรองรับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยระดับเมือง และการจัดการวิกฤติภัยพิบัติหลังโควิด-19 อาทิ การตอบรับนโยบายพลังงานสะอาด โรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวของสหภาพยุโรป (EU) การลดการเกษตรเชิงเดี่ยว การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน โดยผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13

โดยสรุปที่ประชุมเห็นว่าควรมีแผนงานวิจัยสำคัญ 5 ประเด็น ดังนี้  (1) การวิจัยสนับสนุนการกำหนดนโยบายการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (2) การปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลังโควิด-19 เพื่อให้ อปท. และพื้นที่มีความสามารถในการจัดการ ฟื้นฟูได้ดีและยั่งยืนยิ่งขึ้น (3) การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง (สารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ แบบจำลอง สถานีวัดข้อมูล ฯลฯ) เพื่อใช้คาดการณ์และเตือนภัย สนับสนุนการตัดสินใจ และทดลองประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตัวอย่าง ก่อนขยายผลเป็นงานบูรณการประจำได้ต่อไป  (4) การพัฒนาระบบถ่ายทอดข้อมูลและความรู้สู่ชุมชน เพี่อให้สามารถนำไปวางแผนปรับตัวได้เอง โดยใช้เพลตฟอร์มเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย  (5) การพัฒนากำลังคนและหลักสูตรในระดับต่าง ๆ รองรับการตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงและมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.