วันที่ 22 มิถุนายน 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีของกองเทคโนโลยีชุมชน ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์บริการ กับ บริษัท อัสนันท์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ประกอบการจากจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากปลายข้าวไขมันต่ำอบกรอบด้วยไมโครเวฟ และผลิตภัณฑ์ไส้กรอกโปรตีนจากพืช เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตยกระดับผลิตภัณฑ์ ในเชิงพาณิชย์ โดยมี นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และผู้ประกอบการ ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือฯ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) ณ ห้องอัครเมธี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าว ประกอบด้วย 2 เทคโนโลยี ได้แก่ 1).“เทคโนโลยีกระบวนการผลิตขนมขบเคี้ยวจากปลายข้าวไขมันต่ำอบกรอบด้วยไมโครเวฟ” เดิมผลิตภัณฑ์ฯ ส่วนใหญ่มีเนื้อสัมผัสที่แข็งกระด้าง ไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค วศ. จึงได้วิจัยปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัสของขนมขบเคี้ยวจากปลายข้าวโดยศึกษาขนาดอนุภาคปลายข้าวบดและชนิดของไฮโดรคอลลอยด์ ต่อคุณภาพและการเปลี่ยนแปลงเนื้อสัมผัส เพื่อให้ผลิตภัณฑ์พอง กรอบร่วน และอบกรอบได้ด้วยไมโครเวฟ 2).“เทคโนโลยีกระบวนการผลิตไส้กรอกโปรตีนจากพืช” (Plant-based) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโปรตีนถั่ว ธัญพืช รวมถึงพืชตระกูลเห็ด เป็นต้น ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง พลังงานต่ำ และมีไขมันดี (High-Density Lipoprotein : HDL) สูงกว่าไส้กรอกที่ผลิตจากเนื้อสัตว์ อีกทั้งมีเส้นใยธรรมชาติจากพืชตระกูลส้มทำหน้าที่เป็นอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) ช่วยให้ได้ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่มีเนื้อแน่นและเนียนขึ้น
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีจากงานวิจัยและพัฒนาโดย วศ. ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการนำองค์ความรู้ไปขยายผล และต่อยอดจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นเชิงพาณิชย์เพื่อส่งออกทั้งในและต่างประเทศสร้างความยั่งยืนให้กิจการและชุมชนต่อไป
นายกมลไท อิทธิถาวร ผู้ประกอบการ บริษัท อัสนันท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทขอขอบคุณ วศ. สำหรับเทคโนโลยีทั้ง 2 งานวิจัย ถือเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทจะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับไปพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยจะประยุกต์กับวัตถุดิบจากแหล่งเกษตรในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่โจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพเน้นทานธัญพืชและไม่รับประทานเนื้อสัตว์ต่อไป
ทั้งนี้ วศ. มุ่งมั่นศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียด ได้ที่ โทร.02 201 7000 และ www.dss.go.th