สกสว. เปิดเวทีรับฟังความเห็น “แนวทางการพัฒนาประเทศ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
วันที่ 6 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนาออนไลน์รับฟังความคิดเห็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาประเทศ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” โดยเชิญผู้บริหารจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU: Program Management Unit) นักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยุคใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เข้าร่วมนำเสนอแนวทางการพัฒนาประเทศไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์
ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมีหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Agenda Team: SAT) ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นหน่วยรวบรวมองค์ความรู้และกลั่นกรองประเด็นสำคัญจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบแผนงานและโจทย์ด้าน ววน. ตามความต้องการของประเทศ โดยการประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นเรื่อง “งานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ซึ่งมีการรับแนวคิด มุมมองจากภาคนโยบายตลอดจนหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม
งานเสวนาในครั้งนี้ จึงเป็นการรับฟังแนวทาง มุมมองจาก ภาคนโยบาย มุมมองในด้าน Ethics and Governance และมุมมองจากหน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อที่จะบริหารจัดการโครงสร้างทุนที่เหมาะสม มีการส่งเสริมการลงทุนร่วมกับภาคธุรกิจ และนำไปสู่งานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ได้จริง และเกิดผลเป็นวงกว้าง รวมไปถึงธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และประชาชนทั่วไป เรากำลังเผชิญอยู่ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ digital technology and artificial intelligence เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น e-commerce ระบบบริหารจัดการ logistics หรือการใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์โรค จึงเป็นความจำเป็นที่ภาครัฐ ที่ต้องเข้ามาสร้างความเชื่อมโยงและหา leverage point ที่เหมาะสมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและการเงินเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในการจัดการข้อมูลซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำมาการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ดังนั้นงานวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูล จากข้อมูลจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลกระทบที่สูงขึ้น
โดยภาคการเงินเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ที่เป็นโอกาสในการทำวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอมุมมองการประยุกต์การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในภาคการธุรกิจการเงินแบ่งเป็น 8 เรื่องประกอบด้วย 1) การเข้าถึงบริหารทางการเงิน 2) การเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดการเงินและการกำกับดูแล 3) การเข้าถึงบริการทางด้านประกันภัย 4) การป้องกันการทุจริตในภาคการเงิน 5) เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสถาบันการเงิน 6) การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน 7) การจับชีพจรทางเศรษฐกิจ และ 8) เพิ่มประสิทธิภาพระบบการเงินของประเทศ ปัจจุบันในประเทศไทยยังคงมีประเด็นเปิดกว้างในการพัฒนางานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ทางด้าน รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้นำเสนอถึง ภาพรวมการสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการแข่งขันของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่ง บพข. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการสนับสนุนให้ทุนวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนในลักษณะของการร่วมทุนวิจัยซึ่งความร่วมมือในลักษณะนี้จะเป็นการส่งเสริมต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์จากวิจัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางด้านการแพทย์และปัญญาประดิษฐ์ในปีงบประมาณ 2563 บพข. ได้มุ่งเน้นการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์และการเกษตรเป็นการมองภาพรวมในเชิงระบบที่ครอบคลุมไปถึงการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมในภาคประชาชน
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างศูนย์กลางในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยตัวอย่างการสนับสนุนที่ผ่านมาตัวอย่างเช่นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 มีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถสร้างแพลตฟอร์ม weSAVE@Home ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยบริหารจัดการในการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ช่วยรับมือการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต
นอกจากนี้ การเสวนาในครั้งนี้ยังมีการนำเสนอในเรื่อง Ethics and Governance in AI โดยคุณณัฐชยา พงศ์อัครวัฒน์ นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมนำเสนอโอกาสของประเทศไทยในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์